เปิดยื่นซองไฟฟ้าชุมชนวันแรกคึก! ยอดจองคิวรวม 250 ราย จับตา 5 หุ้นร่วมชิงเค้ก

เปิดยื่นซองไฟฟ้าชุมชนวันแรกคึก! ยอดจองคิวรวม 250 ราย จับตา 5 หุ้นร่วมชิงเค้ก


นายเสกสรร เสริมพงศ์  รองผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า วันนี้(27เม.ย.64) เป็นวันแรกที่เปิดให้ผู้สนใจยื่นซองเอกสารคำเสนอขายไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ.2564 ที่จัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เม.ย.ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น.

การยื่นซองเอกสารดังกล่าวจะเป็นไปตามคิวที่จองผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะเปิดรับเพียงวันละ 84 คิว โดยจะต้องจ่ายเงินค่าวางหลักประกันการยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า (Bid Bond) จำนวน  500 บาทต่อกิโลวัตต์ของปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขาย แต่เข้ามาจองคิวยื่นซองเอกสารไว้เพียง 250 ราย

วันแรกมีผู้จองคิวมารอยื่นเอกสารตั้งแต่เวลา 08.00 น.ประมาณ 50 ราย และไม่ได้มายื่นตามคิวที่จองไว้ 4-5 ราย ซึ่งจะต้องไปลงทะเบียนจองในระบบออนไลน์ใหม่ ปัจจุบันเหลือคิวให้จองในวันที่ 28 เม.ย.อีก 71 คิวเท่านั้น ส่วนวันที่ 29-30 เม.ย.จองคิวเต็มแล้ว

นายเสกสรร กล่าวว่า การพิจารณาผู้เข้าร่วมโครงการจะมีคณะกรรมการที่พิจารณาด้านเทคนิคมาจาก 9 หน่วยงาน ทั้งตัวแทน กฟภ., การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.),สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.), คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.), กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) รวมถึงเจ้าหน้าที่จากกรมโยธาธิการและผังเมือง และตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น ซึ่งจะเปิดให้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมได้และอุทธรณ์ได้

หลักเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิค ได้แก่

1.มูลค่าจดทะเบียนต้องไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ติดตั้ง

2.บริษัทที่ยื่นประมูลต้องเป็นบริษัทเดียวกับที่ยื่นขอเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าง

3.วิสาหกิจที่ร่วมกับบริษัทนั้นๆ ต้องจดทะเบียนอย่างถูกต้อง

4.วิสาหกิจ ต้องมีจำนวนสมาชิกครบ 200 ครัวเรือน  และมีข้อตกลงกับบริษัทที่ร่วมประมูลอย่างไร มีการทำเกษตรพันธสัญญา  (contract farming) หรือไม่

5.การให้ผลตอบแทนกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

6.ความถูกต้องของโครงสร้างบริษัท เช่น เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 90% ของบริษัท และให้หุ้นบุริมสิทธิ 10% กับวิสาหกิจชุมชนหรือไม่ และวิสาหกิจชุมชนยอมรับหรือไม่

7.ความพร้อมด้านที่ดิน ทั้งการได้มาของที่ดิน การเชื่องโยงระบบสายส่งไฟฟ้า

  1. เงินลงทุน มีสถาบันการเงินสนับสนุนไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าโครงการหรือไม่
  2. ความพร้อมด้านเทคโนโลยีโรงไฟฟ้า เชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพมีความสอดคล้องกับโรงไฟฟ้าหรือไม่ และการออกแบบโรงไฟฟ้าเป็นอย่างไร
  3. ความพร้อมด้านเชื้อเพลิง สอดคล้องกับกำลังการผลิตไฟฟ้าหรือไม่ และถ้าเชื้อเพลิงไม่พอมีแผนสำรองอย่างไร

นายเสกสรร กล่าวว่า จะปิดรับยื่นซองเอกสารด้านเทคนิคและด้านราคาในวันที่ 30 เม.ย.64 หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อบริษัทที่ยื่นเอกสารทั้งหมด รวมถึงจะตรวจสอบเอกสารและแจ้งสิทธิในรายที่เอกสารไม่ครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์ ให้มายื่นเอกสารเพิ่มเติม โดยในวันที่ 7 พ.ค.จะแจ้งผลทาง email และเปิดให้ยื่นเอกสารเพิ่มในวันที่ 13,14 และ 17 พ.ค.จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิค ในวันที่ 21 พ.ค.ทางเวปไซต์ PPIM และมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา พร้อมชี้แจงเหตุผล

หากผู้ยื่นต้องการอุทธรณ์ผลการพิจารณาสามารถยื่นต่อ กกพ.ได้ภายใน 15 วัน (ภายในวันที่ 4 มิ.ย.) โดย กกพ. จะแจ้งผลการอุทธรณ์ภายในวันที่ 7 ก.ค. และประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในวันที่ 15 ก.ค.จากนั้นจะลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วันนับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ (ภายในวันที่ 12 พ.ค.) ต่อไป

อนึ่ง โครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน จะเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น เชื้อเพลิงชีวมวล 75 เมกะวัตต์ เสนอขายโครงการละไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับ 25%) 75 เมกะวัตต์ เสนอขายโครงการละไม่เกิน 3 เมกะวัตต์

อัตรารับซื้อไฟฟ้า แบ่งเป็น 1. ชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ คิดอัตรา Feed-in Tariff (FiT) ที่ 4.8482 บาทต่อหน่วย และกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ FiT ที่ 4.2636 บาทต่อหน่วย 2. ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) มี FiT ที่ 4.7269 บาทต่อหน่วย โดยทั้งหมดมีระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และมี FiT Premium สำหรับพื้นที่พิเศษ อีก 0.50 บาทต่อหน่วย

ด้านเอกชนพาเหรดแย่งเค้ก 5 รายประกอบด้วย

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยว่า บริษัทมีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ ปัจจุบันได้ลงนามสัญญา (MOU) กับวิสาหกิจชุมชนไว้แล้ว โดยเตรียมยื่นประมูลทั้งหมด 12 โครงการ แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล 10 โครงการ ชีวภาพ 2 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 40 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้

นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมพร้อมยื่นประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน โดยส่งบริษัท ยูเอซี ท็อป เอนเนอร์ยี่ (UAC Top Energy) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ลงนามความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ซึ่งบริษัทวางแผนที่จะยื่นประมูล 5 โครงการ รวมถึงโครงการในจังหวัดขอนแก่นที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง เฉลี่ยโครงการละ 3 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 15 เมกะวัตต์ โดยจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท

นายธีรวุฒิ ทรงเมตตา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า บริษัทได้เตรียมพร้อมที่จะยื่นเสนอประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนมากกว่า 10 พื้นที่ ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ โดยมีการตกลงกับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ไว้แล้ว เพื่อเตรียมพร้อมด้านพืชพลังงาน ขณะเดียวกันบริษัทก็มีความพร้อมทั้งด้านพื้นที่และเงินลงทุนแล้ว

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO กล่าวว่า บริษัทสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เบื้องต้นได้เจรจากับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนหลายโครงการ ในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ประมาณ 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์

นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ายื่นเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจำนวน 3 แห่ง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลทั้งหมด คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 60-70 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์

Back to top button