ช้าแต่ชัวร์ของ SCC

สำหรับบริษัทขนาดใหญ่อย่าง SCC หรือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) การเติบโตในอนาคตจะต้องลดการพึ่งพาแหล่งรายได้จากในประเทศ แต่วิสัยทัศน์เช่นว่านี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ คำถามมีอยู่ว่า จะทำให้สำเร็จได้อย่างไรมากกว่า


พลวัตปี 2021 : วิษณุ โชลิตกุุล

สำหรับบริษัทขนาดใหญ่อย่าง SCC หรือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) การเติบโตในอนาคตจะต้องลดการพึ่งพาแหล่งรายได้จากในประเทศ แต่วิสัยทัศน์เช่นว่านี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ คำถามมีอยู่ว่า จะทำให้สำเร็จได้อย่างไรมากกว่า

โจทย์ที่เป็นการบ้านใหญ่ยามนี้ของ SCC จึงไม่ต่างจาก IVL, PTT, GULF, CP, BANPU, TU หรือ THAIBEV

IVL เป็นต้นแบบที่โดดเด่นสุดในการก้าวเป็นบริษัทระดับโลก ในขณะที่รายอื่น ๆ ยังละล้าละลังต่อไปอีกยาวนานรวมทั้ง SCC (หรือ SCG)

สำหรับ SCC คำกล่าวที่ว่าประเทศไทยเล็กเกินไป ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก้าวย่างด้วยยุทธศาสตร์ “ช้าแต่ชัวร์” ยังเป็นหลักยึดไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะน่าเบื่อแต่ก็ยังมีเสถียรภาพต่อไป

การที่นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่คนปัจจุบันออกมาพูดถึงทิศทางธุรกิจของ SCC ล่าสุดหลังจากการเติบโตของผลประกอบการที่ดีเกินคาด และทำให้ราคาหุ้น SCC มาแรงเกือบทะลุ 500 บาท ก็เป็นการตอกย้ำยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าไม่มีอะไรให้ตื่นเต้น

เป้าหมายรุกในธุรกิจเคมิคอลส์ ตามด้วยแพ็กเกจจิ้งที่ยังมีส่วนต่างที่ดี  ก็เป็นที่ชัดเจนว่ายังคงเป็นปรัชญาเดิม นั่นคือ 1) ทำเฉพาะธุรกิจที่ถนัดและหรือต่อยอดของเดิมไม่สุ่มเสี่ยง 2) การผลิต การตลาด และการเงิน จะควบคู่กันแบบคู่ขนานต่อไปเพื่อความมั่นคง

ในด้านธุรกิจหลักปีนี้ SCC ยังคงเดินหน้าต่อในเคมิคอลส์ โดยการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) อาทิ SMX HDPE และ HDPE Pipe PE112  และเร่งการเข้าสู่ธุรกิจที่ตลาดมีการเติบโตสูง เช่น ธุรกิจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน  ล่าสุดได้เข้าสู่ธุรกิจในยุโรปด้วยการซื้อหุ้นบริษัท ซีพลาสต์ (Sirplaste) ผู้ประกอบธุรกิจและผู้นำด้านพลาสติกรีไซเคิลในโปรตุเกสซึ่งนอกจากจะส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้วยังสามารถนำความได้เปรียบนี้ไปพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลใน ภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งขยายช่องทางการขายในตลาดยุโรปได้

นอกจากนี้ โครงการขยายกำลังการผลิตของโรงงาน MOC Debottleneck ซึ่งธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และ DOW ได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการ ก่อสร้างแล้วเสร็จ เร็วกว่าแผนและเริ่มทดลองดำเนินการผลิตแล้ว คาดว่าจะผลิตได้เต็มกำลังภายในเดือน พ.ค. 2564 จะทำให้มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้น 350,000 ตันต่อปี ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ทำให้กระบวนการผลิตมีต้นทุนการลงทุนที่ต่ำลง และยังทำให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Process)

ส่วนโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม ปัจจุบันมีความคืบหน้าตามแผนแล้ว 76% โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งปีแรกของปี 2566

นอกจากนั้น แผนการแยกธุรกิจออกไปเพื่อระดมเงินทุนใหม่ กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ในการปรับโครงสร้างธุรกิจเคมิคอลส์ รวมถึงเตรียมเสนอขายหุ้น SCG Chemicals ต่อประชาชนทั่วไป (IPO) เพื่อรองรับโอกาสในการขยายธุรกิจเคมิคอลส์ในอนาคตเช่น ความเป็นไปได้ในการขยายกำลังการผลิตในภูมิภาคอาเซียน และการลงทุนอื่น ๆ คาดว่าการศึกษาและการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565

รองลงไปก็เป็นธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง (กระดาษ) ที่ยังคงเติบโตได้ดี ด้วยการนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน โดยดำเนินงานตามโมเดลธุรกิจที่มุ่งขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำ (Downstream) สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคอาเซียน รุกขยายกำลังการผลิตและผนึกกำลังระหว่างฐานการผลิตต่าง ๆ ซึ่งได้เปิดดำเนินการโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ กำลังผลิตส่วนเพิ่ม 400,000 ตันต่อปี ของ Fajar ในประเทศอินโดนีเซีย และการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์อีกกว่า 347 ล้านชิ้นต่อปี ในบริษัท วีซี่ แพ็คเกจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจยังสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุนวัตถุดิบ และค่าขนส่งสินค้าทางเรือได้ดี ทำให้สามารถรองรับความต้องการของตลาดที่ฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับธุรกิจผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ปีนี้ ยังแค่ประคองตัวเพราะต้องดูผลกระทบจากโควิด-19 ครึ่งหลังปีนี้ไปก่อน

ก้าวย่าง “ช้าแต่ชัวร์” นี้ อาจจะส่งผลให้ราคาหุ้น SCC ที่เคยหวือหวาในช่วงไตรมาสแรก ลดเสน่ห์ลงไปมากทีเดียว แต่สำหรับคนที่ชอบความแน่นอน ก็คงต้องเลือกเอาได้ว่า จะชอบ ความหวือหวา หรือ เสถียรภาพ

Back to top button