CKP เขื่อนปั้นกำไร.!

หลังจากต้นปีที่แล้ว บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP พลาดพลั้งขาดทุนไป 339 ล้านบาท ต้นตอมาจากรายได้จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำลดลง ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังนํ้านํ้างึม 2 (NN2) ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณการขายไฟฟ้าลดลง


สำนักข่าวรัชดา

หลังจากต้นปีที่แล้ว บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP พลาดพลั้งขาดทุนไป 339 ล้านบาท ต้นตอมาจากรายได้จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำลดลง ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังนํ้านํ้างึม 2 (NN2) ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณการขายไฟฟ้าลดลง

ขณะที่โรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจนเนอเรชั่น (BIC) ต้องมีการหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมแซมไปในเดือน ม.ค. 2563

แถมยังรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมสูงถึง 329 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนในโรงไฟฟ้าพลังนํ้าไซยะบุรี (XPCL) เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าและรายได้ต่อการขายไฟฟ้าลดลง

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้งบไตรมาสแรกปี 2563 ของ CKP โชว์หราตัวเลขขาดทุน 339 ล้านบาท…กลายเป็นจุดด่างพร้อยในงบการเงิน…

แต่ผ่านมาไตรมาสแรกปีนี้ ก็พลิกกลับมามีกำไรเสียที โดยโชว์กำไรสุทธิ 114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 133.8%

ก็ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีของคนรักเขื่อน..!!

สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มขึ้น 20% อยู่ที่ 1,914 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังนํ้านํ้างึม 2 เพิ่มขึ้น 101.9% อยู่ที่ 758 ล้านบาท ตามปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำสะสม และปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่รายได้จากการขายไฟฟ้าโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ บางเขนชัย (BKC) เพิ่มขึ้น 33.4% อยู่ที่ 51 ล้านบาท เนื่องจากมีการเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าโดยรวมดีขึ้น

เลยเป็นที่มาของ “เขื่อนปั้นกำไร” นั่นเอง..!!

นอกจากนี้ CKP ยังมีรายได้ค่าบริหารโครงการเพิ่มขึ้น 71.6% อยู่ที่ 71 ล้านบาท จากการเริ่มรับรู้รายได้ค่าบริหารโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำ หลวงพระบาง ตั้งแต่ปลายปีก่อน

รวมทั้งในไตรมาสนี้รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเหลือแค่ 32 ล้านบาท ลดลง 90.2% สาเหตุหลักมาจากการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังนํ้าไซยะบุรี ลดลง เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และมีค่าใช้จ่ายทางการเงินลดลงจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง และมีการทยอยชำระคืนเงินต้น

ส่งผลให้ไตรมาสนี้ CKP ปิดสถานะด้วยกำไร..!!

แหม๊…ค่อยรู้สึกเบาใจขึ้นมาหน่อยที่ปีนี้อย่างน้อย ๆ CKP ก็ออกสตาร์ทได้ดี ไม่เหมือนปีก่อน…แต่จะคุมเกมให้ดีตลอดทั้งปีได้หรือเปล่านั้น..? ก็อีกเรื่องหนึ่งนะ

ที่แน่ ๆ ด้วยความที่โครงสร้างผู้ถือหุ้น CKP มี 3 รายที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK, บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ทำให้การมีกำไรของ CKP ครั้งนี้ แน่นอนว่าจะทำให้ CK, TTW และ BEM รับรู้กำไรบางส่วนตามสัดส่วนการถือหุ้นด้วย…

ก็คงทำให้ฉ่ำน้ำกันถ้วนหน้า จากเดิมที่แห้งแล้งต้องแบกขาดทุนจากตรงนี้..!?

งานนี้คนที่โล่งอกสุด ไม่ใช่ใครที่ไหน…ถ้าไม่ใช่ “เจ้าสัวปลิว ตรีวิศวเวทย์” แห่ง CK

…อิ อิ อิ…

Back to top button