ฐานะของบริษัทน้ำมันแห่งชาติพลวัต2015

เมื่อวานนี้ Moody’s Investor Services บริษัทเรตติ้งระดับโลก ออกรายงานน่าสนใจว่าด้วยการประเมินความเสี่ยงธุรกิจของบริษัทน้ำมันแห่งชาติของโลก โดยยกเอากรณีศึกษาของ 2 ชาติที่แยกตัวออกจากรัสเซียในเอเชียกลาง คือ คาซักสถาน (KazMunayGas JSC (KMG)) และ อาเซอร์ไบจัน (State Oil Company of the Azerbaijan Republic (SOCAR)) กับ 4 ชาติในละตินอเมริกา บราซิล (NOC Petrobras) เม็กซิโก (PEMEX) ตรินิแดด และโตบาโก (Petrotrin ) และเวเนซุเอลา (PDVSA)


เมื่อวานนี้  Moody’s Investor Services บริษัทเรตติ้งระดับโลก ออกรายงานน่าสนใจว่าด้วยการประเมินความเสี่ยงธุรกิจของบริษัทน้ำมันแห่งชาติของโลก โดยยกเอากรณีศึกษาของ 2 ชาติที่แยกตัวออกจากรัสเซียในเอเชียกลาง คือ คาซักสถาน (KazMunayGas JSC (KMG)) และ อาเซอร์ไบจัน (State Oil Company of the Azerbaijan Republic (SOCAR)) กับ 4 ชาติในละตินอเมริกา บราซิล (NOC Petrobras) เม็กซิโก (PEMEX) ตรินิแดด และโตบาโก (Petrotrin ) และเวเนซุเอลา (PDVSA)

รายงานระบุว่า ความสัมพันธ์ที่แยกแยะไม่ออกอย่างซับซ้อนของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) กับรัฐบาล เป็นได้ทั้งความเสี่ยงและความแข็งแกร่งของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

การสนับสนุนที่แข็งขันของรัฐบาลต่อบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ตามรายงานที่อ้างถึง ระบุว่า มักจะตามมาด้วย การก่อหนี้มหาศาลที่เกินตัว จากปัญหาสำคัญหลายเรื่องคือ 1) การแทรกแซงกิจการภายในจากอำนาจทางการเมืองภายนอกมากเกินขนาด 2) การขาดธรรมาภิบาลในการบริหารงาน เพราะทิศทางสับสนระหว่างการสนองตอบผู้มีอำนาจ กับการสนองตอบประโยชน์ของชาติ 3) การที่งบประมาณของรัฐพึ่งพารายได้และเงินปันผลจากบริษัทน้ำมันแห่งชาติมากเกินขนาด

ทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้น คือแรงขับเคลื่อนให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติตกอยู่ในบฐานะหนี้สินล้นพ้นตัว และส่งผลให้ฐานะทางการคลังของรัฐบาลล่มสลายได้ง่ายมาก

รายงานดังกล่าว ไม่ได้ชี้ทางออก แต่แค่อธิบายว่าเหตุใด บริษัทน้ำมันแห่งชาติทั้ง 6 แห่งที่ระบุ ถึงได้มีเรตติ้งที่เลวร้าย สอดคล้องกับฐานะทางการคลังของรัฐบาลแต่ละชาติที่เลวร้ายไม่ต่างกัน

ที่จริงแล้ว ข้อสรุปของ Moody’s ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การตอกย้ำอีกครั้งเพื่อเตือนสติผู้ที่เกี่ยวข้องว่า การบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับบริษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น จำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อแยกแยะระหว่างการบริหารจัดการธุรกิจ และการบริหารอำนาจของรัฐบาล ให้มีความสมเหตุสมผล และ สร้างสรรค์

บริษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นรูปแบบที่ก่อตั้งมาภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจชาตินิยม เพื่อต่อสู้กับการผูกขาดธุรกิจของยักษ์ค้าน้ำมันระดับโลกที่เรียกกันว่า 7Sisters (ปัจจุบันคือ Supremajors) โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับตนเอง และปราศจากการครอบงำจากภายนอก

ปัญหาใหญ่ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล กับ บริษัทน้ำมันแห่งชาติทุกแห่งในโลก เกิดจากเป้าหมายที่ตรงกันข้ามกัน คือ ฝ่ายรัฐบาลต้องการเข้ามาควบคุมเพื่อกำหนดทิศทางของบริษัทให้สนองตอบนโยบายทางการเมืองอย่างเต็มรูป ในขณะที่ผู้บริหารบริษัทน้ำมัน ก็ต้องการอิสระในการจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและผลตอบแทนกลับคืนตามที่ถูกสังคมคาดหวัง

เป้าหมายที่เหลื่อมล้ำกันเช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้เสมอ  โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลและผู้บริหารบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ต้องร่วมรับผิดชอบตัดสินใจในประเด็นที่ซับซ้อนเกี่ยวกับธุรกิจ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนผู้บริโภค และต่อธุรกิจอื่นๆ เช่น การกำหนดราคาขายปลีก การมอบใบอนุญาตสำรวจ-ขุดเจาะ หรือ ค้าน้ำมันให้บริษัทอื่นๆ ซึ่งจะต้องถ่วงน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ของบริษัท (ซึ่งจะส่งผลต่อผลประโยชน์ของรัฐบาลอีกทอดหนึ่ง) และผลประโยชน์ของผู้บริโภค หรือ ผลประโยชน์ของตลาดโดยรวม

ที่ผ่านมา เส้นแบ่งที่ชัดเจนในการกำหนดความรับผิดชอบของรัฐบาล และผู้บริหารที่โปร่งใส ถือเป็นกุญแจสำคัญเชิงทฤษฎี ที่จะบ่งชี้ให้เห็นว่า กระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจ (ประเมินอุปสงค์-อุปทานของตลาดน้ำมัน-ก๊าซ การอนุรักษ์ทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของประชาชน และความเพียงพอของอุปทานให้ผู้บริโภค) กับ กระบวนการกำหนดนโยบายรัฐ ทับซ้อนหรือขัดแย้งกันมากเพียงใด

ในตลาดที่มีแนวโน้มเปิดเสรี กลไกสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นเครื่องมือรักษาระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างบริษัทน้ำมันแห่งชาติ กับรัฐบาล มักจะมีการสร้างและถ่ายโอนอำนาจไปที่ คณะกรรมการควบคุม (regulatory body) หรือ คณะกรรมการอำนวยการ (directorate body) เพื่อตรวจสอบ และถ่วงดุลทางการบริหาร โครงสร้างดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้กันทั่วโลก แต่ทฤษฎีและพฤติกรรมที่เป็นรูปธรรม ยังมีช่องว่างห่างกันสุดขั้วต่อไป ไม่จบสิ้น

ประเด็นปัญหาที่ทำให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อยู่ที่เมื่อขนาดของบริษัทน้ำมันแห่งชาติใหญ่โตขึ้นขึ้น จำต้องข้ามพรมแดนเข้าไปเกี่ยวข้องกับพาณิชยกรรมและการลงทุนข้ามชาติในสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อยๆ  ทำให้การทบทวนความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐบาลกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติ มีความจำเป็นยิ่งยวด

ชาติที่ไม่มีการทบทวน มักจะตกอยู่ใต้ชะตากรรมแบบเดียวกับบริษัททั้ง 6 ที่Moody’s รายงานล่าสุดนี้

รายงานของ Moody’s จึงเป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนบทบาทดังกล่าว เพราะพลังของบริษัทน้ำมันแห่งชาติในการยึดครองตลาดภายในประเทศอย่างแข็งแรงเหนือคู่แข่งเอกชนทั้งในและต่างประเทศ มีส่วนให้คำกล่าวหาว่าผูกขาดในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ

กรณีของ เครือ ปตท.ในเมืองไทยเรา ที่ถูกพวกคลั่งชาติด้านพลังงานไล่ล่าเอาเป็นเอาตายในนามของผู้ห่วงใยและปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนมาหลายปี ก็อยู่ในข่ายการทบทวนเช่นเดียวกัน ไม่มีข้อยกเว้น เพียงแต่ผลลัพธ์อาจจะไม่เหมือนที่อื่นๆ เพราะเป็นปฏิบัติการ “แบบไทยๆ”

 

Back to top button