SCG แทนที่ ช้างพลวัต2015

นี่คือการปฏิวัติสำคัญครั้งยิ่งใหญ่วาระสุดท้าย ของนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC หลังจากที่ทำการเปลี่ยนมาหลายอย่าง


นี่คือการปฏิวัติสำคัญครั้งยิ่งใหญ่วาระสุดท้าย ของนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC หลังจากที่ทำการเปลี่ยนมาหลายอย่าง

การเปลี่ยนแปลงแบรนด์จากตราช้าง มาเป็นแบรนด์ SCG นั้น นักการตลาดทุกคนถือว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งกว่าธรรมดา เพราะเป็นการปฏิวัติภาพลักษณ์ครั้งสำคัญอย่างยิ่งของทุกบริษัทเลยทีเดียว

                 นายกานต์ ให้คำอธิบายน่าสนใจว่า การปรับเปลี่ยนแบรนด์ครั้งใหญ่นี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในอาเซียน

การเปลี่ยนแบรนด์สินค้าจาก “ตราช้าง” เป็น “เอสซีจี” จะช่วยให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ง่าย แต่ที่สำคัญคือ เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับองค์กร ทำให้แบรนด์เอสซีจีมีพลังและแข็งแกร่งมากขึ้น

หากยังจำกันได้ นายกานต์นี่แหละเคยอธิบายเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่เข้ามานั่งกินตำแหน่งใหม่ๆ แทนที่นายชุมพล ณ ลำเลียง จากแบรนด์ ”สารพัดช้าง” มาเป็น ”ช้างเดียว” ในหกเหลี่ยมที่มีพื้นหลังสีแดง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อสร้างเอกภาพของแบรนด์ ซึ่งปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับในทางบวกอย่างมาก เพราะถือเป็นความกล้าหาญของผู้นำองค์กรที่โดดเด่น

มาวันนี้ คนที่สร้างตราช้างเดี่ยว กลายเป็นผู้ทำลายล้างเสียเอง ด้วยเหตุผลเดียวกันคือเพื่อสร้างความแข็งแกร่งมากกว่าเดิม โดยยกระดับให้เป็นสากลมากขึ้นในการรุกสู่การเป็นบริษัทข้ามชาติระดับภูมิภาค

ข้ออ้างของการสร้างแบรดน์SCG เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับแบรนด์ชั้นนำระดับโลก เพราะที่ผ่านมา “ตราช้าง” เป็นแบรนด์ที่ใช้ผลดีในประเทศไทยและประเทศลาว ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนไม่ได้ผล

ที่ผ่านมา การทดลองใช้แบรนด์ SCG เป็นแบรนด์หลักในการทำตลาด ปรากฏว่าได้รับการยอมรับอย่างดีทั้งในเรื่องความน่าเชื่อถือและคุณภาพสินค้าระดับพรีเมียม

การเปลี่ยนชื่อจาก “ตราช้าง” เป็น “เอสซีจี” จึงเป็นก้าวใหญ่ก้าวใหม่ และเป็นอีกกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ผู้นำทางธุรกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแท้จริง

ข้อเท็จจริงของธุรกิจ ทำให้เหตุผลในการสร้างแบรนด์ใหม่ ยอมรับได้เพราะว่าปัจจุบัน ธุรกิจของเอสซีจีในอาเซียนนอกเหนือจากประเทศไทย ซึ่งรวมรายได้จากฐานการผลิตและการส่งออกไปอาเซียน ได้เพิ่มขึ้นโดดเด่น

ดังจะเห็นได้จาก เอสซีจีมีรายได้ในไตรมาสที่สามของปี 2558 เท่ากับ 24,945 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้น สำหรับ 9 เดือนของปี 2558 เอสซีจีมีรายได้จากฐานการผลิตและการส่งออกไปอาเซียน เท่ากับ 74,791 ล้านบาท ยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์จะปรับลดลงค่อนข้างมากก็ตาม

ปัจจุบันเอสซีจีมีสินทรัพย์รวมในอาเซียน มูลค่า 102,009 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 20 ของสินทรัพย์รวมของบริษัทและในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีช่องทางสำหรับการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

 ย่างก้าวใหม่เพื่อมุ่งเติบโตในอาเซียนอย่างยั่งยืน จึงเป็นก้าวที่ท้าทายและไม่มีความเสี่ยงอะไรมากมาย เพียงแต่อาจจะต้องการความคุ้นเคยในระยะยาวเท่านั้นเอง

ปัจจุบัน การก้าวสู่อาเซียนของSCG ถือว่าไปได้ราบรื่นตามแผนที่วางไว้ อาทิ โรงงานปูนซีเมนต์ในกัมพูชาเดินเครื่องในสายการผลิตที่สองแล้ว และโรงงานปูนซีเมนต์ในอินโดนีเซียจะเริ่มผลิตในปลายปีนี้ ขณะที่โรงงานปูนซีเมนต์ในประเทศเมียนมาร์และสปป.ลาว คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ

ไม่เพียงเท่านั้น   SCG ยังสร้างเครือข่ายพัฒนาสินค้าและบริการกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้สินค้าและบริการของเอสซีจี สามารถตอบโจทย์ความแตกต่างของลูกค้า และมีสินค้าโซลูชั่นใหม่ๆ ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์มากยิ่งขึ้น

ความสำเร็จจากการก้าวข้ามพรมแดนเช่นนี้ จะทำให้กานต์ ตระกูลฮุน กลายเป็นตำนานแห่งความสำเร็จไปอีกยาวนานของ SCG ที่โดดเด่นทีเดียว

Back to top button