เกมสกัดฟองสบู่ของเฟดพลวัต2015

ความชัดเจนที่ว่าเฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ย หรือเฟด ฟันด์ เรต ชัดเจนมาแล้วและจะส่งผลให้ภูมิทัศน์ของตลาดเงินกับตลาดทุนโลกปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ลืมอดีตเมื่อ 2 เดือนแห่งความสับสนไปได้ เป็นดั่ง“ก้าวข้ามรูบิคอน" ของจูเลียส ซีซาร์ในยุคโบราณทีเดียว


ความชัดเจนที่ว่าเฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ย หรือเฟด ฟันด์ เรต ชัดเจนมาแล้วและจะส่งผลให้ภูมิทัศน์ของตลาดเงินกับตลาดทุนโลกปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ลืมอดีตเมื่อ 2 เดือนแห่งความสับสนไปได้ เป็นดั่ง“ก้าวข้ามรูบิคอน” ของจูเลียส ซีซาร์ในยุคโบราณทีเดียว

 2 เดือนมาแล้ว ที่นักลงทุนทั่วโลกต้องเผชิญกับเกมซ่อนหาของเฟด เพราะไม่เคยมีครั้งใด ที่กรรมการธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ส่งสัญญาณให้ตลาดเงินและตลาดทุนของตนเองและของโลก ไม่ชัดเจนและคลุมเครือเท่าการประชุมสองครั้งที่ผ่านมา ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในอนาคตของเฟดไปด้วย

คนอเมริกันและทั่วโลกทราบดีว่ารัฐบาลกลางสหรัฐนั้นมี 2 แห่ง คือ ทำเนียบขาวมา จากการเลือกตั้งและที่เฟด มาจากการแต่งตั้งอำนาจเขย่าตลาดและเศรษฐกิจของเฟดนั้น มหาศาลอาจมากกว่าทำเนียบขาวหลายเท่า

สามปีก่อนเบนจามิน เบอร์นันเก้ ถูกโจมตีจนเสื่อมบารมีรุนแรง ไม่ได้ต่ออายุอีกสมัยในฐานะประธานเฟด เพราะส่งสัญญาณว่าจะยกเลิกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินหรือ QE จนหุ้นร่วงทั่วโลก แต่แล้วกลับลำไม่เลิกทำให้ตลาดปรับตัววุ่นวาย

นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด เคยพูดส่งสัญญาณมาตั้งแต่ต้นปีแล้วว่า จะขึ้นดอกเบี้ย ตลาดก็ขานรับไปบางส่วน

ดัชนีตลาดหุ้นตั้งแต่นิวยอร์กถึงทุกที่ทั่วโลกพากันเป็นขาลงหรือปรับฐานรอข่าวนี้กันหลายเดือน เพื่อรับมือข่าวร้าย ค่าเงินดอลลาร์แข็งล่วงหน้ากองทุนเก็งกำไรถอนตัวจากทั่วโลกกลับไปสหรัฐ

ท่าทีของเฟดกลายสภาพจากส่งสัญญาณชัดเจนกลายเป็นไม้หลักปักเลน ระหว่างเป้าหมายการจ้างงานกับเป้าหมายเงินเฟ้อ ว่าจะเลือกเอาไหนเป็นหลักเป็นรอง ไม่ใช่เรื่องที่ดินแต่ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายน่าตำหนิเช่นกัน

ในแวดวงตลาดเงินและตลาดทุนท่าทีของกรรมการเฟดมี 2 กลุ่มคือ สายเหยี่ยว เน้นเป้าหมายเงินเฟ้อ พร้อมสนับสนุนขึ้นดอกเบี้ย สายพิราบเน้นเป้าหมายการจ้างงาน ไม่เน้นขึ้นดอกเบี้ย เจเน็ต เยลเลน ได้ชื่อว่า เป็นเทคโนแครตกลุ่มหลัง และไม่เคยปฏิเสธหรือเปลี่ยนท่าที

เพียงแต่ว่าสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้เฟด เยลเลนถูกบังคับให้กลายเป็นสายเหยี่ยวที่โลเล

อย่างทราบกันดี  เมื่อต้นปีนี้ ตอนที่ราคาน้ำมันยังร่วงไม่ถึง 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เยลเลนระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะดูแค่เงินเฟ้อไม่ได้ เพราะการว่างงานยังมากกว่าเป้าหมาย 5.3% หากไม่ถึงเป้าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ย แม้เงินเฟ้อจะใกล้เป้าหมาย 2%

มาถึงตอนนี้ อัตราว่างงานทะลุเกินเป้าไปที่ 5.0%แล้วถ้าตามสูตรของเฟด จำต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแน่นอน แต่เป้าเงินเฟ้อกลับสวนทาง เพราะราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ย่ำแย่ดิ่งลงจุดต่ำสุดรอบ 6 ปี เพราะล้นเกินความต้องการถึงวันละ2ล้านบาร์เรล แถมยังมีแรงกดดันที่ทำให้ราคาต่ำไปอย่างน้อยกลางปีหน้ากันเลยทีเดียว ถึงขั้นที่โกลด์แมน แซคส์ ออกมาคาดเดาว่าราคาน้ำมันดิบมีโอกาสแตะ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้จะไม่น่าเชื่อ แต่ก็ส่งผลลบต่อตลาดรุนแรง

ผลลัพธ์ คือ สายเหยี่ยวในเฟดกลายเป็นสายพิราบ (เทียม) เพราะเงินเฟ้อไม่ถึงเป้าอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ จะหาเหตุขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้เลย แต่กลับกัน สายพิราบถูกบังคับเป็นสายเหยี่ยว (เทียม) เพราะการว่างงานทะลุเป้าแล้ว แถมหากมองจากงานว่างที่นายจ้างรออยู่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ก็เยอะสุดรอบ 7 ปี ยิ่งสมควรต้องขึ้นดอกเบี้ย

การปรับเปลี่ยนสถานการณ์ที่ส่งผลต่อจุดยืนว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ ทำให้คนของเฟดออกมาส่งสัญญาณที่ขาดเอกภาพกัน ไม่มีฉันทามติที่จะทำให้ตลาดคาดเดาทิศทางในอนาคตอันสั้นได้ ตลาดก็เลยมีการเป๋ไปมาระหว่างท่าทีจะเอาอย่างไรกับสายเหยี่ยวหรือสายพิราบของเฟด

ความกลัวหรือปริวิตกของตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ยามนี้ทั่วโลกที่สะท้อนขวัญที่อ่อนยวบของนักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อย จนดัชนีความแปรปรวนเหวี่ยงแรงน่ากลัวเข้าใกล้ระดับความบ้าคลั่ง จึงไม่ได้กลัวเรื่องขึ้นดอกเบี้ยของเฟดหรือไม่ แต่กลัวความไม่แน่นอนจากความโลเลของเฟดเอง

อัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันของเฟด ที่ไม่ได้ขึ้นมา 9 ปีแล้ว อยู่ที่ระดับติดพื้น 0.25% ต่อปีเท่านั้น หากจะขึ้นก็คงขึ้นไปที่ 0.50% ว่าไปแล้วไม่ได้มากมายอะไร แต่ธุรกิจสหรัฐที่คุ้นเคยมาตรการดอกเบี้ยต่ำผสม QE ที่เฟดพิมพ์ธนบัตรให้มานาน 5 ปีกลับบ่นว่าต้นทุนการเงินจะเพิ่มขึ้นเกือบ 50% เป็นข้ออ้างที่เหนือจริงเกินจะเชื่อได้ แต่ก็มีคนเสแสร้งดันทุรังเชื่ออยู่เยอะส่งผลให้ตลาดหุ้นวูบวาบน่าเสียวไส้

6 ปีที่ผ่านมา ดัชนีของตลาดหุ้นนิวยอร์ก วิ่งเป็นขาขึ้นมายาวนานโดยตลอดอาจจะมีปรับฐานหรือพักฐานบ้างระหว่างทาง ทำนิวไฮครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เป็นตลาดหุ้นขาขึ้นในห้วงยามที่เศรษฐกิจสหรัฐเลวร้ายอย่างรุนแรงช่วงหลังวิกฤตซับไพรม์ที่ต้องพึ่งพามาตรการ QE นาน 6 ปี ถือเป็นขาขึ้นเทียม ความรู้สึกอกสั่นขวัญแขวนของนักลงทุนในตลาดเก็งกำไร

เมื่อใกล้จะมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 9 ปีของเฟด ประหนึ่งสาวพรหมจารีจะแรกเสียตัวให้เจ้าบ่าวที่พ่อแม่เลือกให้ จึงเป็นอาการที่เกินจริง

ข้อเท็จจริงคือนักลงทุนอาจความจำเสื่อมถึงขั้นลืมไปแล้วว่า พรหมจารีที่ว่านั้นได้ฉีกขาดไป ไม่เหลือหรอนานมาแล้ว

ความไม่แน่นอนนั้นน่ากลัวกว่าความเสี่ยง เรื่องนี้แฟรงค์ ไนท์เคยพิสูจน์มานานหลายศตวรรษจนเป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่ยอมรับกันมาแล้ว ความผันผวนชนิดสุดขั้วแบบสลับฟันปลาในสัปดาห์ที่ผ่านมา ของตลาดปริวรรตเงินตรา ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ จนนักลงทุนทั่วโลกจำนวนมากเลือกที่จะถอยห่างเป็นคนดูข้างตลาด เกิดเพราะการส่งสัญญาณที่ไม่ชัดเจนของเฟดอย่างเลี่ยงไม่พ้น

ความไม่ชัดเจนดังกล่าว อาจมีข้ออ้างว่าเป็นการโต้แย้งทางความคิดตามหลักเกณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ของ “ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ” (deliberative democracy)เพื่อที่จะหาฉันทามติให้ได้ลงตัววันที่ 17 กันยายนนี้ หรือถ้ายังหาไม่ได้อาจเลื่อนไปเดือนตุลาคมหรือเดือนธันวาคมเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่ากันไปเลย แต่ข้ออ้างดังกล่าวทำให้มีคำถามตามมาว่าทำไมไม่สร้างวาทะกรรมกันในห้องแคบๆ แต่ดันมาให้ความเห็นโต้กันผ่านสื่อแบบ “ตะโกนเสียงดัง” ทั้งที่ไร้ข้อยุติ

ผลลัพธ์ทางตรงและข้างเคียงของความไม่ชัดเจนและไร้เอกภาพ ทำให้การตีความของตลาดต่อสถานการณ์ผิดประหลาดเหลือเชื่อ เหมือนเกมเล่นซ่อนหา แต่จากนี้ไปจะไม่เกิดอีกแล้วเพราะข่าวดี การจ้างงานเพิ่ม อัตราเติบโตจีดีพี หรือดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้ทางเลือกไม่ขึ้นดอกเบี้ยเป็นไปไม่ได้อีก

ขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่มากของสหรัฐทำให้เฟดไม่ต้องกังวลกับเศรษฐกิจของโลกมากนักยกเว้นจีนหรือยูโรโซน แต่ตอนนี้ทั้งสองแห่งก็มีสัญญาณว่าไม่เลวร้ายเกินไป ดังนั้นความกังวลจึงหมดไป แต่ชาติขนาดเล็กกลับมีทางเลือกน้อยกว่าเฟด เพราะการถอนตัวมาถือดอลลาร์ครั้งใหม่คือความเสียหายที่ชาติเล็กๆ ต้องแบกรับและปรับตัวให้สอดคล้องเป็นเวลายาวนาน

ตลาดหุ้นเกิดใหม่ที่รวมทั้งไทยด้วยอยู่ในช่วงเวลาขาลงแบบซึมยาวและมีความเสี่ยงสูงขึ้นแน่นอนไม่เชื่อก็ไม่ว่า แต่คอยดูแล้วกัน…

Back to top button