หยวนเป็นเงินสากลพลวัต2015

วันจันทร์ที่ 30พฤศจิกายน พ.ศ.2558 เป็นวันประวัติศาสตร์อีกครั้งของทุนนิยมโลก เมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศประกาศเป็นทางการ ยอมรับให้หยวน มีฐานะเทียบเท่ากับดอลลาร์สหรัฐ ปอนด์ ยูโรและเยนในตะกร้าคำนวณค่าเงินพิเศษที่เรียกว่า SDRs


วันจันทร์ที่ 30พฤศจิกายน พ.ศ.2558 เป็นวันประวัติศาสตร์อีกครั้งของทุนนิยมโลก เมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศประกาศเป็นทางการ ยอมรับให้หยวน มีฐานะเทียบเท่ากับดอลลาร์สหรัฐ ปอนด์ ยูโรและเยนในตะกร้าคำนวณค่าเงินพิเศษที่เรียกว่า SDRs

นั่นหมายความว่าเงินหยวนได้ กลายฐานะเป็นหนึ่งในเงินตราสากลของโลกที่ถือเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ต้องอ้างอิงในตลาดเงินระหว่างประเทศไม่ใช่เงินสกุลท้องถิ่นอีกต่อไปแล้ว

ฐานะที่เปลี่ยนไปนี้ด้านหนึ่งเป็นความภาคภูมิใจของจีนที่สามารถทำให้เงินเน่าที่ไม่มีใครยอมรับในเวทีหรือตลาดเงินระหว่างประเทศใกล้เคียงกับแบงก์กงเต๊กในงานพิธีกรรมของคนจีนกลายมาเป็นหนึ่งในเงินสกุลหลักของโลกภายในเวลาน้อยกว่า 30ปี

อีกด้านหนึ่งจีนได้ฐานะของเงินหยวนนี้มาโดยมีต้นทุนมหาศาลที่ต้องแบกรับไปอีกยาวนานในฐานะชาติพี่เบิ้มทางเศรษฐกิจของโลก เพราะจากนี้ไปค่าเงินหยวนต้องแปรผันในตลาดเงินตราระหว่างประเทศโดยอ้างอิงถึงสุขภาพของเศรษฐกิจจีนเป็นสำคัญ

เวลาที่มีข่าวร้ายทางเศรษฐกิจจีนค่าเงินหยวนจะตกฮวบและดึงตลาดเงินวูบวาบเวลาที่มีข่าวดีค่าเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้นทำให้เงินชาติคู่ค้าผันผวนตรงกันข้ามมีทั้งดีและร้ายผสมปนเปกันไป

สิ่งที่ยังไม่มีความชัดเจนหลังการเปลี่ยนฐานะของค่าเงินหยวนครั้งนี้คือเสียงขานรับของธนาคารกลางชาติต่างๆ ว่าจะยอมรับหรือถือเงินหยวนไว้ในตะกร้าทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของตนมากน้อยเพียงใดซึ่งต้องติดตามกันต่อไป

ปรากฏการณ์เปลี่ยนฐานะของเงินหยวนครั้งประวัติศาสตร์นี้ตีความในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองได้หลายด้านมากขึ้นกับมุมมองทางบวกหรือลบแต่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยคือตลาดการค้าโลกและบริษัทข้ามชาติทั้งหลายต้องเริ่มทำความคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมในรูปเงินหยวนอย่างจริงจังทำนองเดียวกับค่าดอลลาร์ยูโรและเยนถึงแม้ว่าระดับความใหญ่โตของธุรกรรมในรูปหยวนจะยังไม่มากเท่าสกุลอื่นที่คุ้นเคยกันมานานหลายปี

หากมองย้อนหลังไปเมื่อวันที่11 สิงหาคมปีนี้จีนประกาศลอยตัวค่าเงินหยวนอย่างเป็นทางการและถูกตีความผิดๆ ว่าเป็นการทำสงครามค่าเงินโดยเจตนา จากบรรดานักคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองหัวดึกดำบรรพ์เราจะเห็นได้ชัดว่านั่นคือการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับฐานะใหม่ของไอเอ็มเอฟนั่นเองเพราะหลังจากวันนั้นมาเราได้เห็นตลาดเงินทั่วโลกเริ่มเปิดกว้างทดสอบการทำธุรกรรมในรูปหยวนมากขึ้นแม้ว่าจะมีคนตีความว่าเกิดจากเงินหยวนเสื่อมค่าลงจนเข้าข่ายน่าสนใจก็ตาม

การลอยตัวของค่าหยวนเมื่อเดือนสิงหาคม เท่ากับการยกเลิกมาตรการผูกค่าเงินหยวน ที่ดำเนินการมานานกว่า 20 ปี เข้ากับค่าดอลลาร์สหรัฐตายตัวอย่างชนิดที่ดอลลาร์สลัดเท่าใดก็ไม่ยอมหลุด แม้จะมีข้อกล่าวหาจากทางสหรัฐและสหภาพยุโรปตลอดมาว่าจีนบิดเบือนค่าหยวนให้ต่ำกว่าความจริงเพื่อเป้าหมายเร่งส่งออกเพราะจีนเป็นชาติที่มีการได้เปรียบดุลการค้ามหาศาล ซึ่งในหลักทั่วไปควรที่จะมีค่าหยวนแข็งขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์ ต่างจากสหรัฐที่ขาดดุลการค้าเรื้อรัง

แรงกดดันให้จีนลอยตัวค่าหยวน เคยเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหาทางการทูตระหว่างจีนกับสหรัฐ ก่อนที่จีนจะใช้เพทุบายใหม่ด้วยการขยับค่าเงินหยวนให้ยืดหยุ่นเล็กน้อยแต่ยังรักษาการ เกาะติดค่าดอลลาร์แจไม่ยอมห่างภายใต้คำพูดคลาสสิกของมาดามอู๋อี๋ (หวู่ยวี่) อดีตรองนายกรัฐมนตรีชื่อดังที่ว่า ประวัติศาสตร์จีนยาวนานกว่า 3,000 ปีการผูกค่าหยวนกับดอลลาร์แค่ไม่กี่ปีช่างแสนสั้น

การผูกติดกับค่าดอลลาร์ของหยวนในอดีตนั้น เกิดจากจีนรู้ดีว่าค่าดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเกินจริงเนื่องจากเป็นเงินสกุลที่ใช้ค้าน้ำมันปิโตรเลียมของโลก การผูกติดค่าดอลลาร์ที่อ่อนค่าจะทำให้เงินหยวนต่ำกว่าความเป็นจริง แต่เมื่อถึงเวลาที่สหรัฐโดยเฟดต้องการปรับยุทธศาสตร์ใหม่หลังฟื้นตัวจากวิกฤตซับไพรม์เพื่อหาประโยชน์จากการแข็งค่าของดอลลาร์ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลชำระเงินเป็นบวก จีนก็พร้อมจะใช้โอกาสนี้ทำการปรับท่าทีและยุทธศาสตร์ของค่าหยวนเสียใหม่

การตัดสินใจของธนาคารกลางจีนเมื่อเดือนสิงหาคม ด้วยข้ออ้างเพื่อปรับปรุงระบบการกำหนดอัตราค่ากลางสกุลเงิน (หมายถึงค่ากลางระหว่างราคาซื้อและราคาขายของตลาดเงินประจำวันเอาไว้อ้างอิง) ให้เงินหยวนลอยตัว เพียงแต่ไม่ใช่ลอยตัวอย่างเสรีภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนโลก แต่ลอยตัวแบบมีการจัดการซึ่งธนาคารกลางจีนควบคุมอยู่ด้วยข้ออ้างเรื่องเสถียรภาพ เพียงพอที่จะทำให้ไอเอ็มเอฟไม่ตะขิดตะขวง ที่จะปรับยกฐานะหยวนเป็นเงินสากลล่าสุด

ฐานะใหม่ของหยวน ที่เกิดขึ้นพร้อมกับช่วงเวลาที่ตัวเลขส่งออกจีนลดฮวบต่อเนื่องและเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่า 7% ผสมกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์เข้าสู่ขาลงรอบใหม่ช่วยให้จีนใช้ความยืดหยุ่นของค่าหยวนบริหารจัดการเศรษฐกิจได้คล่องตัวมากขึ้นแต่ชาติคู่ค้าของจีนกลับต้องเผชิญภารกิจใหม่ นั่นคือการปรับตัวเข้ากับค่าหยวนในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน

สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ ในยามที่เฟดกำลังจะขึ้นดอกเบี้ย (หลายครั้งตามความจำเป็น) และค่าดอลลาร์จะแข็งขึ้นต่อเนื่องตลอดปีหน้า จีนในฐานะที่เป็นชาติเจ้าหนี้ถือพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันอายุ10 ปีอันดับหนึ่งในหลายปีมานี้ จะหาประโยชน์จากการแข็งค่าดอลลาร์สหรัฐได้อย่างไรเพื่อเก็บเกี่ยวหาผลลัพธ์ในช่วงเศรษฐกิจภายในจีนเติบโตช้าลง

ฐานะใหม่ของหยวนคือการเปลี่ยนแปลงจากปริมาณสู่คุณภาพใหม่ และจะตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายตามหลักมาร์กซิสม์

 

Back to top button