คปภ. ติวเข้มคณะกรรมการตรวจสอบบริษัทประกันภัยยกระดับธรรมาภิบาล

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.จะเดินหน้าส่งเสริมการกำกับดูแลที่ดีและการบริหารความเสี่ยงของบริษัทด้วยการจัดสัมมนาคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทประกันภัย ครั้งที่ 2/2558 เรื่อง IT Governance โดยมีคณะวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) (สพธอ.) และผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนมาบรรยายเกี่ยวกับ "การกำกับดูแลเทคโนโลยีสารสนเทศ" ในแง่มุมต่างๆ ทั้งด้านการรักษาความปลอดภัยของระบบ การบริหารข้อมูลลูกค้า ระบบ IT เพื่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และ วิสัยทัศน์การลงทุนในระบบ IT ของสถาบันการเงิน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 250 คน ประกอบด้วย ผู้แทนสมาคมประกันชีวิตไทย ผู้แทนสมาคมประกันวินาศภัยไทย คณะกรรมการตรวจสอบ และผู้บริหารระดับสูงในสายงาน IT ของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย


ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.จะเดินหน้าส่งเสริมการกำกับดูแลที่ดีและการบริหารความเสี่ยงของบริษัทด้วยการจัดสัมมนาคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทประกันภัย ครั้งที่ 2/2558 เรื่อง IT Governance โดยมีคณะวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) (สพธอ.) และผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนมาบรรยายเกี่ยวกับ “การกำกับดูแลเทคโนโลยีสารสนเทศ” ในแง่มุมต่างๆ ทั้งด้านการรักษาความปลอดภัยของระบบ การบริหารข้อมูลลูกค้า ระบบ IT เพื่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และ วิสัยทัศน์การลงทุนในระบบ IT ของสถาบันการเงิน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 250 คน ประกอบด้วย ผู้แทนสมาคมประกันชีวิตไทย ผู้แทนสมาคมประกันวินาศภัยไทย คณะกรรมการตรวจสอบ และผู้บริหารระดับสูงในสายงาน IT ของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย

สำนักงาน คปภ. มีแนวทางที่จะปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการกำกับธุรกิจให้มีความพอดีและ กำกับเท่าที่จำเป็น โดยจะกำกับดูแลพฤติกรรมทางการตลาดให้มากขึ้น รวมทั้งจะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีกลไกในการกำกับดูแลตนเอง มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ทั้งนี้คณะกรรมการตรวจสอบถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในกลไกการกำกับดูแลตนเอง เพราะเป็นผู้ที่จะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายสามารถเชื่อมั่นได้ว่าบริษัทมีการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ตั้งอยู่บนหลักของธรรมภิบาลและมีเสถียรภาพ

ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ สำนักงาน คปภ. มีความคาดหวังว่าคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทต้องให้ความสำคัญใน 2 มิติ คือ มิติที่ 1 การกำกับดูแลการดำเนินงานในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพ โดยมีหน้าที่ใน 3 บทบาท คือ “สอบทาน ให้ความเห็น และพิจารณา” สอบทาน ได้แก่ สอบทานความสมบูรณ์ครบถ้วนของรายงานทางการเงินให้มีความสมบูรณ์ สอบทานความมีประสิทธิภาพของระบบการควบคุมภายใน (Internal Control) ระบบการตรวจสอบภายใน (Internal Audit) และระบบการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) และสอบทานให้บริษัทมีการดำเนินธุรกิจอยู่ภายในกฎ กติกา และจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยเคารพสิทธิของผู้บริโภค ให้ความเห็น ได้แก่ การให้ความเห็นและข้อเสนอแนะแก่ฝ่ายบริหาร เพื่อการกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลและให้ความเห็นประกอบรายงานผลการประเมินการควบคุมภายในของบริษัทโดยรวม เพื่อสื่อสารให้คณะกรรมการบริษัทได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานอย่างเหมาะสมและเพียงพอ และพิจารณา คือ การพิจารณาคัดเลือก เสนอแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีความเป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท รวมถึงการพิจารณาความเหมาะสมของขอบเขตการดำเนินงานและค่าตอบแทนด้วย

ในมิติที่ 2 คณะกรรมการตรวจสอบจะต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ในการบริหารความเสี่ยงสำหรับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และมีบทบาทโดยตรงในการเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่า หน่วยงานต่างๆ ได้ปฏิบัติตามกรอบการบริหารความเสี่ยงที่คณะกรรมการบริษัทได้วางไว้ เป็นผู้ให้ข้อมูลสะท้อนกลับในแง่ของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และประเมินความมีประสิทธิภาพของระบบการบริหารความเสี่ยงโดยรวม

ดร.สุทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการวางรากฐานเพื่อการเติบโตของอุตสาหกรรม เราต้องมีการลงทุนในระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยและปลอดภัยสำหรับลูกค้า เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ให้มีต้นทุนที่ต่ำลงในระยะยาว และมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี รวมถึงต้องมีการลงทุนด้านทรัพยากรบุคคลของภาคธุรกิจประกันภัยอย่างจริงจัง เพื่อเสริมสร้างให้ธุรกิจมีความคล่องตัว พร้อมที่จะแข่งขันเมื่อมีโอกาสใหม่ๆ เข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปิดตลาดในภูมิภาคอาเซียน

 

Back to top button