“เจ๊ตู่” ไม่เพิกเฉย-เร่งขอความร่วมมือ 4 บจ.รับผิดชอบหลังถูกลงโทษ

“วรวรรณ ธาราภูมิ” นายกสมาคม บลจ.เผยขณะนี้ทำหนังสือขอความร่วมมือบอร์ด 4 บจ.(FER, WHA, BKI, AMC, GLOBAL รับผิดชอบหลังถูกลงโทษ,จี้ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์ให้เท่าเทียมและเหมาะสมกับระดับการกระทำความผิดของแต่ละกรณีด้วย


นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ระบุว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษและปรับผู้บริหาร กรรมการ ในบริษัทจดทะเบียนไปล่าสุด 5 บริษัท ได้แก่ บมจ.เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (MLINK) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เฟอร์รั่ม จำกัด (มหาชน) หรือ FER, บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA, บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI, บริษัท เอเซีย เมทัล จำกัด (มหาชน) หรือ AMC, บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL-W) ด้วยความผิดให้ข้อมูลเท็จ หรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง เมื่อวันพุธที่ 16 มีนาคม 2559 ไปแล้วนั้น

ทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุน มิได้เพิกเฉยหรือปฏิบัติด้วยมาตรฐานที่ต่างกันกับกรณีอื่น โดยได้ใช้เวลาในการหาข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับกรณีที่เกิดแก่ทั้ง 5 บริษัทนี้ ซึ่งพบว่าใน 5 บริษัทนั้น มี 4 บริษัท ที่มีกรรมการกระทำความผิด (ส่วนกรณีบริษัท AMC ผู้กระทำผิดไม่ใช่กรรมการ) ซึ่งสมาคมฯ กำลังออกหนังสือขอความร่วมมือจากบริษัทต่างๆ เหล่านั้น ด้วยเนื้อหาที่ไม่ต่างจากที่ได้เคยปฏิบัติไปแล้ว เพื่อสร้างบรรทัดฐานเป็นแบบอย่างที่ดีของตลาดทุน

การที่ยังไม่ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์นั้น เนื่องจากจะต้องได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนเสียก่อน และไม่ต้องการให้เนื้อหาที่ออกสื่อผิดเพี้ยนไป อันอาจก่อให้เกิดความคาดหวัง ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง”นางวรวรรณ ระบุ

นางวรวรรณ กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนคือ ในการลงทุนของกองทุนนั้น กองทุนลงทุนในกิจการ ลงทุนในตัวบริษัท ไม่ได้ลงทุนในตัวบุคคลผู้บริหารหรือกรรมการ ดังนั้น หากผู้บริหารหรือกรรมการที่กระทำความผิดได้รับโทษและถอยห่างออกจากการทำหน้าที่แล้ว  และบริษัทเหล่านั้นได้มีการแจ้งแนวทางแก้ไขเพื่อมิให้เกิดกรณีเช่นนั้นอีก ผู้จัดการกองทุนต่างๆ จะพิจารณาเองว่าบริษัทนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจที่จะลงทุนต่อไปหรือไม่ 

ส่วนบริษัทที่ยังมิได้มีการปฏิบัติไปตามที่สมาคมฯ คาดหวัง เราก็จะดำเนินการไม่ต่างกับกรณีที่เคยเกิด ซึ่งถ้าผู้จัดการกองทุนเขาเห็นว่ายังเป็นกิจการที่ดี ก็คงไม่ขายออกไป แต่จะไปใช้สิทธิทวงถามในการประชุมผู้ถือหุ้น ด้วยความมุ่งหวังให้บริษัทมีการดำเนินการที่ถูกต้อง และเป็นกิจการที่น่าลงทุนต่อไป แต่หากผู้จัดการกองทุนรายใดเขาไม่ไว้วางใจในบริษัทนั้นๆ แล้ว ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารไปแล้วหรือไม่ ก็คงจะขายออกในจังหวะเวลาที่พิจารณาว่าเหมาะสม

ทั้งนี้ นางวรวรรณ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า ในส่วนเฉพาะของ บลจ.บัวหลวง นั้น ได้ดำเนินการกันภายในตามมาตรฐานการกำกับดูแลของเรา  โดยฝ่ายกำกับดูแลฯ ได้ขึ้นบัญชีบริษัทเหล่านั้นที่มีอยู่ใน Universe การลงทุนของเราให้เป็นหลักทรัพย์ต้องห้ามมิให้ซื้อเพิ่มตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2559 ไปแล้ว และหากบริษัทใดยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้บริหารและกรรมการที่กระทำผิด ยังไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ในเวลาอันควร ก็จะมีหนังสือจาก บลจ.บัวหลวง ไปยังประธานกรรมการของบริษัทที่เรามีการลงทุน

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ได้รับทราบมาว่า สำนักงาน ก.ล.ต. จะมีการประชุมคณะกรรมการในเดือนเมษายนนี้ โดยหนึ่งในวาระที่จะพิจารณาคือเรื่องการปรับปรุงเกณฑ์ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน เพราะมีการปฏิบัติที่แตกต่างและทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในปัจจุบัน

ในปัจจุบันนี้ ผู้บริหารหรือกรรมการที่ถูกเปรียบเทียบปรับตามความผิดไปแล้วนั้น ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ไม่ได้ห้ามการทำหน้าที่ต่อ แต่ในกรณีเดียวกันนี้ถ้าเป็นผู้บริหารหรือเป็นกรรมการของบริษัทจดทะเบียนที่มีใบอนุญาตนายหน้า ค้า หรือจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน สำนักงาน ก.ล.ต.จะถือว่าเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน  บุคคลเหล่านั้นจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการหรือบุคคลากรในตลาดทุนได้เลยในช่วงระยะเวลาที่ กลต.กำหนด

แนวทางนี้ ทราบมาว่าทางสำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่าควรมีการปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งสมาคมฯ คาดหวังว่าจะพิจารณาให้มีการปฏิบัติที่เท่าเทียม และเหมาะสมกับระดับการกระทำความผิดของแต่ละกรณีด้วย

 

 

Back to top button