กสทช.บี้ JAS ควักเพิ่ม 200 ล้านก่อนจากกันด้วยดีสอบแล้วไร้ค่าเสียโอกาส พร้อมส่งเงินเข้ารัฐ 8 หมื่นลบ.

กสทช.บี้ JAS ควักเพิ่ม 200 ล้านก่อนจากกันด้วยดี สอบแล้วไร้ค่าเสียโอกาส พร้อมส่งเงินเข้ารัฐ 8 หมื่นลบ.


นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า จากมติคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กรณีการพิจารณาค่าเสียหายเนื่องจากบริษัทแจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ไม่ชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz นั้น

มติของ กทค.เห็นชอบให้เรียกค่าเสียหายจากบริษัทแจสฯ จำนวนเงิน 199.42 ล้านบาท และหลักประกันจำนวน 644 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงินที่บริษัทแจสฯต้องจ่ายให้แก่รัฐ จำนวน 843.42 ล้านบาท

อีกทั้ง กทค.ยังมีมติเห็นด้วยว่า ไม่มีข้อกำหนดใดๆที่สามารถเอาผิดกับบริษัทในเครือจัสมินฯที่เคยได้รับใบอนุญาตอื่นๆจากทาง กสทช.ได้ ดังนั้นใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม และอินเตอร์เนตของบริษัทในเครือของจัสมินฯ ที่ได้รับอนุญาตจากกสทช.ยังคงมีผลใช้ต่อไป

ทั้งนี้ กทค.พิจารณาประเด็นเรียกค่าเสียหายจากบริษัทแจสฯใน 5 ข้อด้วยกัน คือ 1.ค่าใช้จ่ายในการจัดประมูลคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ เมื่อวันที่ 15-19 ธันวาคม 2558 ซึ่งบริษัทแจสฯ ชนะประมูลแต่ไม่มีเงินชำระค่าใบอนุญาต คิดเป็นเงิน 20.25 ล้านบาท 2.ค่าใข้จ่ายในการจัดประมูลคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2559 ซึ่งบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ชนะประมูลที่ 75,654 ล้านบาท โดยบริษัทแจสฯต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในวงเงิน 10 ล้านบาท 3.ส่วนต่างของเงินที่ได้จากการประมูลคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ ปรากฏว่า บริษัทแอดวานซ์ฯชนะประมูลไป จึงไม่มีค่าส่วนต่างใดๆเกิดขึ้น

4.ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งบริษัทแจสฯ ชนะประมูลไปในครั้งแรก ต้องชำระเงินงวดที่ 1 จำนวน 8,040 ล้านบาท ภายในวันที่ 21 มีนาคม 2559 แต่เมื่อบริษัทแจสฯไม่มีชำระหนี้ จึงต้องรับผิดชอบดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5 ซึ่งกรณีที่บริษัทแอดวานซ์ฯมาชำระเงินกับกสทช.ในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 บริษัทแจสฯจะต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้รวม 169.18 ล้านบาท

5.ในประเด็นค่าเสียโอกาสของรัฐและประชาชนจากการใช้คลื่นความถี่ ขึ้นอยู่กับผู้ชนะการประมูลรายใหม่ ทั้งนี้ถ้าบริษัทแอดวานซ์ฯ เปิดบริการในระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2559-23 มีนาคม 2561 กสทช.ไม่สามารถเรียกค่าเสียโอกาสได้

นายฐากรยังกล่าวอีกว่า มติกทค.พิจารณาพฤติกรรมการประมูลคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ ไม่พบว่า มีหลักฐานส่อให้เห็นในทางที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือรัฐมีรายได้ลดลง หรือมีการสมยอมราคาใดๆ ทั้งนี้มติกทค.ก่อนหน้าเห็นว่าการประมูลดังกล่าวเป็นไปด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรมและแข่งขันราคาอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี เมื่อประมวลผลการประมูลคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์แล้ว แม้บริษัทแจสฯจะไม่ชำระหนี้ แต่เมื่อประมูลในครั้งใหม่ บริษัทแอดวานซ์ฯ ชนะประมูล ทำให้รัฐมีรายได้ และยังเรียกค่าเสียหายจากบริษัทแจสฯเพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งนี้บริษัทแอดวานซ์จะต้องจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 8.09 หมื่นล้านบาท บวกกับค่าริบหลักประกันจากบริษัทแจสฯ 644 ล้านบาท ค่าเสียหายเนื่องจากบริษัทแจสฯไม่ชำระเงินค่าประมูล 199.42 ล้านบาท รวมแล้ว กสทช.สามารถจัดหาหารายได้เข้ารัฐรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8.18 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าจมีะมติกทค.ออกมาวันนี้ ทางคณะทำงานพิจารณาความรับผิดกรณีบริษัทแจสฯ ไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้ความถี่ย่าน 900 เมกกะเฮิรตซ์ ที่มีนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธานฯประเมินค่าเสียหายจำนวน 131 ล้านบาท แต่นายฐากร ได้ขอให้มีการประเมินใหม่อีกครั้ง ซึ่งสามารถเรียกค่าเสียหายจากบริษัทแจสฯเพิ่มอีก 68.42 ล้านบาท

 

Back to top button