KTAM มอง “เงินเฟ้อ” ผ่านจุดสูงสุด เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัว

KTAM มองภาพรวมตลาดเริ่มแข็งแกร่ง พร้อมผลักดันผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน


นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกจากนี้ถึงสิ้นปีว่า ภาพรวมตลาดการลงทุนของโลกมีปัจจัยที่สนับสนุน ได้แก่ การที่อัตราเงินเฟ้อน่าจะผ่านจุดสูงสุดแล้ว แต่การลดลงของอัตราเงินเฟ้อเป็นไปอย่างเชื่องช้าซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง แต่ก็จะไม่ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แต่จะเป็นการเติบโตอย่างช้าๆ (Soft Landing) ก่อนที่ธนาคารกลางจะทำการลดอัตราดอกเบี้ยในประมาณกลางปีหน้า

อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยที่ยังมีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องคือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risk) ซึ่งจะนำไปสู่การใช้กำแพงภาษี การย้ายฐานการผลิตเพื่อลดปัญหาอุปทานขาดแคลนจากการกีดกันทางการค้า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

สำหรับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่คาดว่าอัตราการเติบโตยังน่าจะอยู่ในระดับต่ำ (Slow Growth) จากปัญหาหนี้ที่สูงขึ้นในแทบทุกประเทศ ภาวะเงินเฟ้อสูงที่เคยกดดันการใช้จ่ายน่าจะค่อยๆ คลี่คลายลงในหลายประเทศ แต่โดยรวมแล้วเงินเฟ้อยังน่าจะสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางต่างๆ อยู่ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายที่เร่งตัวก่อนหน้านี้จะสิ้นสุดวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น แต่การปรับดอกเบี้ยลงยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน ธนาคารกลางต่างๆ ยังน่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

ทั้งนี้ จึงอาจต้องติดตามผลพวงที่จะเกิดขึ้นจากการตรึงดอกเบี้ยในระดับสูงว่าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภาคส่วนใดบ้าง ซึ่งจะมีผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง แต่ไม่น่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรง (Severe Recession)

อีกทั้ง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังจะเห็นความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ต่อเนื่อง ทำให้ศักยภาพในการเติบโตระยะยาวด้อยลง แม้ว่าในระยะนี้อาจเป็นตัวเร่งให้มีการลงทุนขยายการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าแต่ก็เป็นผลดีเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น

ส่วนของเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการฟื้นตัวที่สำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่อาจจะเดินทางเข้ามาในประเทศมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีและต่อเนื่องถึงปีหน้า ส่งผลดีต่อรายได้และการบริโภคในประเทศ

ด้านเงินเฟ้อของประเทศไทยที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน (Supply push) แต่ไม่ได้เป็นปัญหายืดเยื้อเหมือนประเทศอื่นๆ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายในประเทศอาจจะไม่ได้สูงนัก คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.50% เพื่อปรับดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับ “สมดุล” และไม่ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยกับต่างประเทศสูงจนเกินไปนัก แต่ทว่าในภาพระยะยาว ประเทศไทยยังมีความท้าทายในด้านความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และประเด็นประชากรสูงวัย

ตลาดหุ้นไทยใน 7 เดือนที่ผ่านมา มีความผันผวนและให้ผลตอบแทนที่ติดลบและต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผลตอบแทนดัชนีตลาดหุ้นสำคัญๆ ทั่วโลก เป็นผลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้น

รวมถึงการประมาณการเศรษฐกิจไทยที่เติบโตน้อยกว่าคาด อันเป็นผลจากภาคการผลิตและภาคส่งออกของไทยถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวน้อยกว่าที่คาด ประกอบกับทิศทางดอกเบี้ยโลกที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาทำให้มีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทย

ทั้งนี้ หากพิจารณาปัจจัยต่างประเทศจะเห็นว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้สิ้นสุด ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงยังมีโอกาสค่อนข้างน้อย ขณะที่ปัจจัยเชิงบวกภายในประเทศไทยจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวมคาดว่าจะค่อยๆ ดีขึ้น จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เข้าสู่ High season ในไตรมาส 4  รวมถึงภาพการเมืองที่ชัดเจนขึ้นจะทำให้แนวโน้มตลาดไทยผันผวนลดลง

โดยเฉพาะเมื่อสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งนี้ คาดว่าจะการชุมนุมประท้วงจะไม่รุนแรงเท่าในอดีตที่ผ่านมา และเมื่อมีแนวทางในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนโดยรวมได้ แต่ตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงบ้างจากผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ผ่านมา ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนและภาระดอกเบี้ยให้ภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง ประกอบกับแนวโน้มของการเกิดภัยแล้งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและการบริโภคได้ด้วย

บลจ.กรุงไทย คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรประมาณ 10-12% มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ที่ระดับ 3.2-3.4% เป็นระดับที่ Valuation ไม่แพงนัก ซึ่งปัจจุบัน P/E อยู่ที่ประมาณ 15-16 เท่า โดยประเมิน SET Target ที่ 1,640 จุด ณ สิ้นปี 2566

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยได้สะท้อนความกลัวและความกังวลของนักลงทุนในประเด็นความเสี่ยงจากการเมือง และการปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไปพอประมาณแล้ว ขณะที่สัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติอยู่ในระดับต่ำจากการขายออกมาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และคาดการณ์แนวโน้มค่าเงินบาทที่น่าจะกลับมาแข็งค่าจากปัจจัยเศรษฐกิจที่น่าจะดีขึ้น จึงคาดว่าจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติให้กลับเข้าตลาดตราสารทุนไทยได้

โดยกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่เหลือของปี จะพิจารณาเลือกสรรหุ้นและอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ หุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภค และภาคบริการภายในประเทศ หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกประคองตัวได้ (ไม่เป็น Recession รุนแรง) และหุ้นที่ผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ มองว่าให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีในปีนี้ จากทั้งเศรษฐกิจที่ไม่ได้เกิดภาวะถดถอยดังที่นักวิเคราะห์กังวลก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจมีความทนทานต่อดอกเบี้ยสูงได้ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาด นักวิเคราะห์มีการทยอยปรับประมาณการกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น

รวมถึงเงินเฟ้อที่สูงก็ส่งผลดีต่อตัวเลขรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียน กระแสการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็ส่งผลดีต่อกลุ่มเทคโนโลยีค่อนข้างมากด้วยเช่นกัน ทั้งนี้บลจ.กรุงไทย ได้ประเมินภาพการลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้นแต่ตลาดหุ้นยังคงมีความผันผวนสูง

ดังนั้น การเลือกลงทุน (Selection) จึงมีความสำคัญมากขึ้น โดยจะเป็นลักษณะที่จะเลือกการลงทุนเป็นประเทศๆ จะไม่มีการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันทั้งโลก จากการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงกว่าในประเทศเกิดใหม่หลายประเทศซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อต่ำและสามารถดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำได้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นในครึ่งหลังของปี

โดยหลังจากที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาพอสมควร ทำให้บางตลาดเริ่มมี Valuation ที่ “แพง” นักลงทุนจึงอาจต้องเน้นในกลุ่มประเทศ/อุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการเติบโตที่มีคุณภาพในระยะยาว รวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดีและมีอายุเฉลี่ยที่ยาวขึ้น

ดังนั้น นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาได้ ก็ควรให้ความสนใจที่จะเลือกลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่สูงกว่าตราสารหนี้ เนื่องจากตลาดตราสารหนี้นั้น อัตราดอกเบี้ยอาจจะใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้วและน่าจะมีทิศทางอ่อนตัวลง ซึ่งอาจเหมาะกับการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่รับความผันผวนสูงไม่ได้ อาทิเช่น นักลงทุนที่สามารถรับความผันผวนได้มากควรลงทุนในหุ้นประมาณ 70% และลงทุนในตราสารหนี้เพียง 30% ในทางกลับกัน สำหรับนักลงทุนที่รับความผันผวนได้ต่ำก็ควรลงทุนในหุ้น 30% และลงทุนในตราสารหนี้ถึง 70% เป็นต้น

Back to top button