สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 19 ก.ค. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 19 ก.ค. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 700 จุดเมื่อคืนนี้ (19 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์เดลตา ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้ฉุดหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจ เช่นกลุ่มธุรกิจเรือสำราญและกลุ่มสายการบิน ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงอย่างหนักหลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ทรุดตัวลงกว่า 7%

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,962.04 จุด ลดลง 725.81 จุด หรือ -2.09% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,258.49 จุด ลดลง 68.67 จุด หรือ -1.59% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,274.98 จุด ลดลง 152.25 จุด หรือ -1.06%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงมากกว่า 2% เมื่อคืนนี้ (19 ก.ค.) ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดในรอบ 9 เดือน เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา อาจชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 444.29 จุด ร่วงลง 10.45 จุด หรือ -2.30%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,295.97 จุด ร่วงลง 164.11 จุด หรือ -2.54%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,133.20 จุด ร่วงลง 407.11 จุด หรือ -2.62% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,844.39 จุด ร่วงลง 163.70 จุด หรือ -2.34%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (19 ก.ค.) แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อได้เพิ่มความวิตกว่า จะมีการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลกเร็วขึ้น

ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 6,844.39 จุด ร่วงลง 163.70 จุด หรือ -2.34%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 70 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (19 ก.ค.) หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 5.39 ดอลลาร์ หรือ 7.5% ปิดที่ 66.42 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2564

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. ดิ่งลง 4.97 ดอลลาร์ หรือ 6.80% ปิดที่ 68.62 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. 2564

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (19 ก.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์เดลตา

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 5.80 ดอลลาร์ หรือ 0.32% ปิดที่ 1,809.2 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 65.10 เซนต์ หรือ 2.52% ปิดที่ 25.144 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 37.10 ดอลลาร์ หรือ 3.35% ปิดที่ 1,071.40 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 44.60 ดอลลาร์ หรือ 1.70% ปิดที่ 2,592.70 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (19 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย อันเนื่องมาจากความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์เดลตา ขณะที่เงินปอนด์ร่วงลงเนื่องจากความกังวลว่า การที่รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยิ่งทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดมีความรุนแรงมากขึ้น

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.21% แตะที่ 92.8856 เมื่อคืนนี้

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1791 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1809 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3659 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3768 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7328 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7400 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2758 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2605 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.46 เยน จากระดับ 110.07 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9182 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9195 ดอลลาร์

 

Back to top button