DOD ลุยธุรกิจ “กัญชง-กัญชา” ทยอยส่งมอบเมล็ดพันธุ์ปลายส.ค.นี้ พร้อมเดินเครื่อง ต.ค.64

DOD เดินหน้าลุย “ธุรกิจกัญชง-กัญชา” เต็บสูบในครึ่งปีหลัง เตรียมทยอยส่งมอบเมล็ดพันธุ์ไปปลูก จำนวน 1 แสนเมล็ด ตั้งแต่ปลายสิงหาคมนี้ เพื่อจะนำมาสกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชง คาดว่าสามารถเดินเครื่องผลิตได้ภายในเดือนตุลาคม 2564 อย่างแน่นอน


นายธนิน ศรีเศรษฐี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD เปิดเผยว่า ทิศทางครึ่งปีหลังว่า จากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความเสี่ยงสูงและเปราะบาง ส่งผลให้บริษัทฯได้ประเมินความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจึงเห็นควรว่า ต้องมีการหยุดการดำเนินงานของบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจเครื่องสำอางและธุรกิจเครือข่าย เพื่อไม่ให้มีผลขาดทุนต่อเนื่องต่อไป

โดยบริษัทฯจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับธุรกิจโรงสกัดซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ ( Core Business) ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันให้กับกลุ่มบริษัทได้อย่างมั่นคง ที่ผ่านมาบริษัทฯได้จัดตั้งบริษัทย่อยภายใต้ บริษัทสยาม เฮอเบิล เทค จำกัด เข้ามาดำเนินธุรกิจด้านโรงสกัด สำหรับรองรับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งสารสกัดจากกัญชง-กัญชา พืชกระท่อม (ซึ่งถือพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ) และพืชสมุนไพรอื่นๆ รวมถึงเป็นผู้นำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงจากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาจำหน่ายให้กับเครือข่ายผู้ปลูกกัญชง

ทั้งนี้ จากความคืบหน้าล่าสุด บริษัทสยาม เฮอเบิล เทค ได้ทำสัญญากับกลุ่มเกษตรกร (Contract Farming) รายใหญ่ และกลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชน อาทิ บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด วิสาหกิจชุมชนทุ่งนางแลสมุนไพรเพื่อการแพทย์ รวมถึงวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกและแปรรูปบุกเขาค้อ ที่ได้รับใบอนุญาตการปลูกกัญชง จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทฯคาดว่าจะทยอยส่งมอบเมล็ดพันธุ์กัญชง ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์นำเข้าที่ได้ใบอนุญาตจากสำนักงานอย.ให้กลุ่มพันธมิตรดังกล่าวภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อดำเนินการปลูก โดยบริษัททีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด จะนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับ จำนวน 1 แสนเมล็ด ไปปลูกเพื่อนำเมล็ดกัญชง มาจำหน่ายให้กับบริษัทฯ เพื่อนำไปสกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชง (Hemp Seed Oil)

ขณะที่วิสาหกิจชุมชนทุ่งนางแลสมุนไพรเพื่อการแพทย์ จะนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับทั้งหมด 2.5 หมื่นเมล็ด ไปปลูกเพื่อเอาช่อดอก เพื่อจำหน่ายให้บริษัทฯนำสารสำคัญไปผลิต CBD หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการสกัดสารและผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าตามออเดอร์ ได้ภายในช่วงไตรมาส 4/2564 หรือ ต้นปี 2565 ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งบริษัทฯเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้เป็นรายแรกของประเทศไทย

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งโรงสกัดนั้น ล่าสุดได้มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปแล้วกว่า 80% พร้อมทั้งได้มีการนำเข้าเครื่องจักรเข้ามาติดตั้งภายในโรงงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นบริษัทฯคาดว่าโรงสกัดดังกล่าวจะแล้วเสร็จและสามารถดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้อย่างแน่นอน โดยโรงสกัดดังกล่าวถูกก่อสร้างภายใต้การรับรองตามมาตรฐาน PIC/S ซึ่งเป็นมาตรการของโรงงานผลิตยา

ทั้งนี้ หากโรงสกัดแล้วเสร็จและได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานสกัดสาร CBD ในการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชงตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำของกลุ่มบริษัท DOD ทั้งด้านการเป็นผู้นำการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงผู้นำด้านโรงสกัดรายใหญ่ที่ผลิตสารสกัดสำคัญจากกัญชง-กัญชา พืชกระท่อม รวมถึงพืชสมุนไพรอื่นๆที่ครบวงจรแบบ One Stop Service Solution ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ ในระดับต้นๆของประเทศ

ด้านนางสาวสุวารินทร์ ก้อนทอง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ.ดีโอดี ไบโอเทค ระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 บริษัทฯได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนห้อง LAB ปฏิบัติการให้กับทางสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สถาบันการวิจัยและวิชาการชั้นสูงของประเทศไทย เพื่อใช้สำหรับงานวิจัยคิดค้นสารตั้งต้นสำคัญของยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และเพื่อนำมาผลิตเป็นยาต้านเชื้อไวรัสในประเทศไทย ภายใต้การดูแลของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมีเป้าหมายต้องการเห็นประเทศไทยพ้นจากวิกฤติการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้โดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดราชวิทยาลัยจุฬาฯได้มีการส่งวัตถุดิบซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ มาให้ทีมวิจัยและพัฒนา(R&D)ของ DOD ช่วยวิเคราะห์เพื่อร่วมหาสารตั้งต้นดังกล่าวแล้ว ซึ่งบริษัทฯมองว่าการที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทั้งวิเคราะห์วิจัย และสนับสนุนห้อง LAB เพื่อปฏิบัติการครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทฯที่ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประเทศ

“สำหรับสาเหตุที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เข้ามาใช้ห้องปฏิบัติการ (LAB)ของ DOD เนื่องจากเล็งเห็นว่า LAB ของเราได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 รวมถึงยังได้การรับรองมาตรฐาน ISO 22000:2018 (ระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร) และ ISO 14001 : 2015 (ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม) รวมถึงมีทีมวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่สามารถสนับสนุนงานวิจัยในการคิดค้นสารตั้งต้นสำคัญของยาฟาวิพิราเวียร์ ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ตรงตามที่ต้องการ” นางสาวสุวารินทร์ กล่าว

ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงจากโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 แต่ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ของบริษัทยังคงมีรายได้จากการขาย 247.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.42 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 9.94 และมีกำไรจากการดำเนินงาน 73.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.98 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 32.63 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯได้ประเมินความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงเห็นควรว่าต้องมีการหยุดการดำเนินงานของบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่งในธุรกิจเครือข่าย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้ต้องตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยลูกหนี้และลูกหนี้อื่น ค่าเผื่อการด้อยค่าสินทรัพย์ทางการเงิน และค่าเผื่อการลดมูลค่าสินค้าคงเหลือจึงส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกิจการ ส่งผลให้เกิดผลขาดทุนส่วนของบริษัทใหญ่จำนวน (57.83) ล้านบาท แต่บริษัทเล็งเห็นว่าการปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้จะส่งผลให้บริษัทมีการเติบโตอย่างมั่นคง

โดยพิจารณาได้จากผลการดำเนินงานของธุรกิจหลัก (Core Business) ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา บริษัทฯมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจาก 406.04 ล้านบาท เป็น 603.44 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 48.62 และมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 118.81 ล้านบาท เป็น 225.14 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 89.50 และมีกำไรที่ไม่รวมของบริษัทย่อยทั้งสองแห่งที่หยุดดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 83.23 ล้านบาท เป็น 175.92 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 111.37 เทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

Back to top button