“สมาคมเลี้ยงไก่” ยัน “ไข่” ไม่ขาดตลาด ราคาหน้าฟาร์มคงที่แม้คนแห่กักตุน
"สมาคมเลี้ยงไก่" ยืนยันผลผลิตเพียงพอ ราคาหน้าฟาร์มคงที่ตามกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือไว้ หลังคนกักตุนวิตกโควิด คาดติดปัญหากระจายเฉพาะที่จึงทำให้ราคาไข่ไก่ดีดตัวสูง
นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผลผลิตไข่ไก่ที่มีอยู่ในระบบยังมีปริมาณตามปกติที่ 41 – 42 ล้านฟองต่อวัน และจากมาตรการรัฐที่ให้ยืดอายุแม่ไก่ยืนกรง จะทำให้ปริมาณไข่ไก่เพิ่มอีก 3 ล้านฟองต่อวัน รวมเป็น 44 – 45 ล้านฟองต่อวันในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศอย่างแน่นอน ที่สำคัญคือราคาขายหน้าฟาร์มเกษตรกรยังอยู่ในระดับเดิมตามที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือไว้ จึงแปลกใจว่าทำไมราคาไข่ไก่ในหลายพื้นที่มีการปรับสูงขึ้น
“ต้องยอมรับว่าในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีหลายจังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้มถูกล็อกดาวน์ การขนส่งผลผลิตไข่ไก่ให้กับห้างต่างๆ จึงทำได้ไม่สะดวกนัก ส่งได้เพียงวันละหนึ่งเที่ยว หากว่ามีคนซื้อมากกว่าปกติก็จะทำให้เติมไม่ทัน ยืนยันว่าผลผลิตไข่ไก่ที่มีอยู่ขณะนี้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศอย่างแน่นอน ความต้องการที่ดูเหมือนว่ามีเพิ่มขึ้นช่วงนี้น่าจะเป็นเพราะผู้บริโภคซื้อตุนไว้ เพื่อลดความถี่ในการออกนอกบ้านจากปกติซื้อที่ 10 ฟอง ก็เพิ่มเป็น 90 – 120 ฟอง เราเองก็เห็นใจผู้บริโภคก็ต้องประคับประคองกันไป เพื่อก้าวผ่านโควิด-19 ไปด้วยกัน” นายสุเทพ กล่าว
อีกทั้งปัญหาราคาไข่ที่สูงขึ้นช่วงนี้ อยู่ที่พ่อค้าคนกลางเป็นสำคัญซึ่งทางสมาคมฯได้ย้ำให้เกษตรกรระมัดระวังไม่ขายผลผลิตไข่ให้คนแปลกหน้า แต่จะขายให้เฉพาะลูกค้าประจำ สำหรับต้นทุนการเลี้ยงขณะนี้มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยพุ่งขึ้นมาใกล้เคียงเกือบเท่าราคาที่ขายหน้าฟาร์มแล้ว จากช่วงไตรมาสที่สองต้นทุนอยู่ที่ฟองละ 2.76 บาท และมีแนวโน้มต้นทุนสูงขึ้นอีกจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง ทำให้ตอนนี้ผู้เลี้ยงแทบไม่มีกำไรเลย
ด้านนายสุวัฒน์ แพร่งสุวรรณ์ ประธานชมรมไข่ไก่ภาคอีสาน เปิดเผยว่า การที่ราคาไข่ในขณะนี้ดีดตัวขึ้น มาจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผลผลิตส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้สำหรับผู้กักตัวที่โรงพยาบาลสนามต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ป่วยจากกทม.ที่กลับมารักษาตัวที่ภูมิลำเนาของตนเองมากขึ้น เพราะไข่ไก่เป็นสินค้าที่นำมาประกอบอาหารได้ง่าย และเก็บรักษาไม่ยาก ขณะที่ราคาขายหน้าฟาร์มอยู่ในระดับที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือ โดยปกติไข่ไก่ในภาคอีสาน ส่วนใหญ่จะเป็นผลผลิตส่วนเกินของภาคอื่น ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณที่ลดลงบ้างจากช่วงปกติ จากที่ภาคอื่นๆมีความต้องการเพิ่มขึ้นดังกล่าว
ส่วนนายอุ่นเรือน ต้นสัก ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่ – ลำพูน จำกัด เปิดเผยว่า ปริมาณไข่ไก่ในพื้นที่ทางภาคเหนือมีเพียงพอกับความต้องการบริโภค ไม่มีปัญหาขาดแคลน และจำหน่ายตามราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด พร้อมขอให้ภาครัฐช่วยดูแลให้ราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพ รวมทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองให้อยู่ในระดับที่เกษตรกรผู้เลี้ยงพอจะสามารถลืมตาอ้าปากได้