“บล.กสิกร” เคาะเป้า MAJOR สูง 26.15 บ. ลุ้นเปิดประเทศ Q4 – ปันผลพิเศษขาย SF

“บล.กสิกร” ระบุในบทวิเคราะห์ MAJOR แนะนำ Outperform ราคาเป้าหมาย 26.15 บาท ลุ้นเปิดประเทศ Q4/64 – ปันผลพิเศษขาย SF


บริษัทหลักทรัพย์ กสิกร ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผลงานของ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR ในไตรมาส 2/64 ออกมาขาดทุนจากการดำเนินงานหลัก 344 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีผลขาดทุน 591 ล้านบาท โดยผลงานที่ดีขึ้นนั้นมาจากการบริหารต้นทุนที่ดี แต่ผลงานในไตรมาส 2/64 นั้นขาดทุนมากกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานหลัก 148 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากคำสั่งของรัฐบาลไทยให้ปิดการเข้าใช้งานโรงภาพยนต์ใน 16 จังหวัดรวมถึงกทม.

ทั้งนี้ ผลขาดทุนในไตรมาสนี้ออกมามากกว่าที่คาดไว้ที่ 273 ล้านบาท นอกจากนั้นแล้วผลขาดทุนจากการดำเนินงานหลักในครึ่งปีแรกที่ 492 ล้านบาท ยังมากกว่าคาดการณ์ของ บล.กสิกร ที่ 168 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้รวมมูลค่าจาก SF เข้าในรายการผลขาดทุนจากการดำเนินงานหลักนี้

ด้านฝ่ายบริหารของ MAJOR ระบุว่า อัตราของการเผาเงินทุน (Cash Burn Rate) นั้นลดลงจากเดิม 300-400 ล้านบาทต่อเดือนในสถานการณ์ปกติ มาอยู่ที่ 100-150 ล้านบาทในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งอัตราที่ลดลงนี้มาจากการต่อรองราคากับผู้ให้เช่า และการลดจำนวนพนักงานลง

โดย ณ สิ้นสุดไตรมาส 2/64 MAJOR มีเงินสดอยู่ 1.1 พันล้านบาท และหนี้อยู่ 5.3 พันล้านบาท (ไม่รวมสัญญาเช่าชนิดลงทุน หรือ Capital Lease) ส่งผลให้มี D/E Ratio อยู่ที่ 0.67 เท่า ซึ่งเงินสดที่มีอยู่นั้นจะพอสำหรับการดำเนินงานอีก 7-11 เดือน

นอกจากนั้น การขาย SF ราว 7 พันล้านบาท หากผ่านการอนุมัติในการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 27 ส.ค. นี้จะช่วยให้ MAJOR มีเงินพอสำหรับการอยู่รอดจากวิกฤติครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม บล.กสิกร ยังมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของดีมานด์ในการเข้ารับชมภาพยนต์เนื่องจากวัคซีนในตอนนี้ดูจะมีประสิทธิภาพที่ต่ำลงเมื่อเผชิญกับโควิด-19สายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์ใหม่ในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันอัตราเข้าพักในรพ. และการเสียชีวิตในหลายๆ ประเทศเริ่มสามารถควบคุมได้แล้ว แต่อาจใช้เวลาอีกพักหนึ่งที่จะให้คนปรับตัว และเข้าใช้งานโรงภาพยนต์จนอัตราการเข้าใช้กลับมาสู่จุดก่อนโควิด

ทั้งนี้ ให้จับตา 1) อัตราการฉีดวัคซีน 2) อัตราการฉีดบูสเตอร์โดส 3) วัคซีนใหม่ๆ ที่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตา และการกลายพันธุ์ได้

สำหรับมุมมองในระดับกลาง (base-case scenario) บล. กสิกรคาดว่าการใช้งานโรงภาพยนตร์จะกลับมาในเป็นปกติในช่วงไตรมาส 1/65 โดยเร่งการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4/64 แต่อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ดังนั้น บล.กสิกร จึงตั้งมุมมองในระดับแย่ที่สุด (worst-case scenario) โดยคาดว่าการเข้าใช้งานในโรงภาพยนต์จะกลับมาเป็นปกติได้ในช่วง 2566 ยังมองว่าบริษัทจัดทำภาพยนต์จะยังคงมองโรงภาพยนต์เป็นเป้าหมายหลักในการฉายภาพยนต์ โดยให้ราคาเหมาะสมไว้ที่ 23.27 บาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ บล.กสิกร คงคำแนะนำ Outperform โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 26.15 บาท ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการขาย SF ส่วนปัจจัยหลักที่อาจส่งผลต่อการปรับคำแนะนำคือ 1) การเปิดประเทศในไตรมาส 4/64 2) ปันผลพิเศษจากการขาย SF 3) มีความต้องการของสินค้าและบริการในโรงภาพยนต์ที่เพิ่มขึ้นจากการล็อคดาวน์มานาน และ 4) รายได้จากการขายคอนเทนท์ผ่าน Over-the-top (OTT) แพลตฟอร์ม

สำหรับมุมมองต่อมูลค่า และราคาของหุ้นในขณะนี้ บล.กสิกรระบุว่ามูลค่าการขาย SF อยู่ที่ 7 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 7.89 บาทต่อหุ้น เมื่อหักลบออกจากราคาปิดของวันที่ 13 ส.ค. 2564 ที่ 18.30 บาทต่อหุ้น ราคาหุ้น MAJOR จะเหลืออยู่ 10.41 บาท บน PER ปี 2566 อยู่ที่ 8.7 เท่า ซึ่งเป็นมูลค่าที่น่าสนใจ

Back to top button