เปิดโผ 10  หุ้น “บลูชิพ” ทะยานไม่หยุดรอบ 8 เดือน! พ่วงสอย 9 หุ้นต่ำบุ๊ก!

เปิดโผ 10  หุ้น “บลูชิพ” ทะยานไม่หยุดรอบ 8 เดือน! พ่วงสอย 9 หุ้นต่ำบุ๊ก! นำโดย BBL,KBANK,EGCO,SCB,KTB,TOP,PTTGC,TTB และ IRPC


ภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วง 8 เดือนแรก 2564 ยังเป็นขาขึ้น แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 อย่างหนัก โดยเห็นได้จากดัชนี SET ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 อยู่ที่ระดับ 1,449.35 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 1,638.80 ณ วันที่ 31 ส.ค.64 บวก 189.40จุด หรือเพิ่มขึ้น 11.55%

ดังนั้นทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรวจกลุ่มหุ้น SET50 ในช่วง 8 เดือนแรก 2564 มานำเสนอเพื่อให้เห็นทิศทางหุ้นรายใดปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งท่ามกลางปัจจัยลบ และเป็นโอกาสให้เข้าสะสมหุ้นพื้นฐานแกร่งราคาต่ำบุ๊กเข้าพอร์ต เนื่องจากโบรกคาดแนวโน้มตลาดหุ้นเดือนก.ย.2564 ยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่องจากเดือนส.ค.

สำหรับกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรง 10 อันดับของกลุ่ม SET50 โดยเปรียบเทียบข้อมูลราคาหุ้น ณ วันที่ 30 ธ.ค.63-31 ส.ค.2564 โดยเรียงลำดับราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงมากสุดไปหาน้อยสุด ประกอบด้วย KCE,COM7,SCGP,INTUCH,TU,STA, EA,GLOBAL,MINT,CBG,

ส่วน 9 หุ้นพื้นฐานแกร่งราคาต่ำกว่าบุ๊ก อาทิ BBL,KBANK,EGCO,SCB,KTB,TOP,PTTGC,TTB และ IRPC คาดเป็นข้อมูลให้นักลงทุนใช้พิจารณาในการตัดสินใจเลือกสะสมหุ้นเข้าพอร์ตอีกครั้งดังตารางประกอบ

โดยอันดับ 1 คือ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ราคาหุ้นในช่วง 8 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 84.34% จากระดับ 41.50 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 76.50 บาท ณ วันที่ 31 ส.ค.2564 ราคาหุ้นปรับตัวแรงจากพื้นฐานบริษัทที่แข็งแกร่ง และแนวโน้มกำไรปีนี้เติบโตโดดเด่น

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์(2ก.ย.64) บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE (TP22F 87.7*): S 77.5/77.0 R 80.0/80.5 (Stop Loss: 76) ภาพธุรกิจยังดีมาก คำสั่งซื้อปัจจุบันเพียงพอถึง พ.ย. แล้วตามกลุ่มลูกค้ารถยนต์เติบโตทุกภูมิภาค มีความต้องการเซมิคอนดักเตอร์

ขณะที่บริษัทเริ่มปรับราคากว่า 5% ตั้งแต่ไตรมาส 2/2564 เพื่อชดเชยต้นทุนทองแดงสูงขึ้น โดยโมเมนตัมดีต่อในไตรมาส 3/2564  เป็น High season คาดกำไรยังเพิ่มเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, เทียบไตรมาสก่อนหน้า และมองกำไรทั้งปี 2.4 พันลบ. โต 114% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายปี 2564 โตกว่า +28% และอัตรากำไรที่สูงขึ้น

โดย Valuation: แนะนำ Trading รับภาพ bullish ของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ โดยราคาหุ้นปัจจุบันมี PER21F ที่ 38 เท่า ขณะที่เงินบาทมีสัญญาณกลับมาอ่อนค่าเล็กๆ มองเป็นจุดสะสมหุ้นกลับ รับผลประกอบการขาขึ้น

 

อันดับ 2  คือ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ราคาหุ้นในช่วง 8 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 78.85% จากระดับ 39.00 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 69.75 บาท ณ วันที่ 31 ส.ค.2564 ราคาหุ้นปรับตัวแรงจากพื้นฐานบริษัทที่แข็งแกร่ง เนื่องจากทำกำไรโตต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2560 และเป็นหุ้นเด่นที่ธุรกิจได้ประโยชน์ในช่วงการระบาดโควิด-19

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) คงคำแนะนำ “ซื้อ” COM7 ราคาเป้าหมายที่ 96.00 บาท อิง PER ปี 2565 ที่ 42 เท่า โดยบริษัทรายงานกำไรสุทธิ ไตรมาส 2/64 ที่ 587 ล้านบาท (+114% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, +4% จากไตรมาสก่อน) สูงกว่าตลาดคาด +27% จาก 1) รายได้ที่ขยายตัว +49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากฐานที่ต่ำ เพราะมีการปิดสาขาจำนวน 70% ในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. 2563  และ 2) Gross profit margin ที่เพิ่มขึ้นเป็น 13.4% (ไตรมาส 2/63/ ไตรมาส 1/64 = 12.2%/13.0%) จากยอดขายสินค้ากลุ่ม WFH ที่มี margin สูงเพิ่มขึ้น ควบคู่ยอดขาย iPhone ที่มี margin ต่ำลดลง

ทั้งนี้กำไรสุทธิช่วงครึ่งปีแรกคิดเป็น 53% ของประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 และปกติผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวจากปีก่อน จากการทยอยเปิดตัวสินค้า Apple ใหม่เป็นปกติ ซึ่งคาดว่า ได้แก่ iPhone 13, Apple Watch, AirPods 3 และ MacBook จึงมีแนวโน้มปรับประมาณการขึ้นจากเดิมที่ 2.18 พันล้านบาท (+46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน)

อย่างไรก็ตามยังคงแนะนำ “ซื้อ” จากผลการดำเนินงานที่จะยังคงเติบโตดีต่อเนื่องที่ core EPS CAGR 2563-65 +29% ตามความต้องการ สินค้าไอที และ IoT ที่อยู่ในระดับสูง และกำไรที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนใน NCAP ที่ทำธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และสินเชื่ออื่นๆ

 

อันดับ 3 คือ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ราคาหุ้นในช่วง 8 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 68.67% จากระดับ 41.50 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 70.00 บาท ณ วันที่ 31 ส.ค.2564 ราคาหุ้นปรับตัวแรงจากพื้นฐานบริษัทที่แข็งแกร่งและแนวโน้มผลงานโดดเด่นปีนี้

นายดนัยเดช เกตุสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการขาย 57,148 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 45,903 ล้านบาท เป็นผลมาจากการขยายธุรกิจเดิม และการขยายธุรกิจแบบ M&P (SOVI และ Go-Pak) โดยสัดส่วนรายได้แบ่งตามธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร (Integrated Packaging Chain) 84% และธุรกิจ Fibrous Chain 16%

ทั้งนี้บริษัทมีความสนใจในการเข้าไปลงทุนในลักษณะการควบรวมกิจการกับพันธมิตร (M&P) อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา 2 บริษัท ได้แก่ Deltalab, S.L (Deltalab) ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในสเปน และ Intan Group ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกในอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะสามารปิดดีลได้ภายในไตรมาส 3/2564 และจะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้นราว 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ปี 2564 ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท โดยวางงบลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท โดยบริษัทจะนำไปใช้ในการขยายธุรกิจแบบ M&P ตามที่วางแผนไว้ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท, การลงทุนใน Go-Pak, Duytan & brownfield Projects ราว 11,000 ล้านบาท และ Maintenance จำนวน 4,000 ล้านบาท อีกทั้งสถานะทางการเงินยังคงแข็งแกร่ง โดยปัจจุบันบริษัทมี D/E อยู่ที่ราว 0.6 เท่า

 

อันดับ 4  คือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)  หรือ INTUCH ราคาหุ้นในช่วง 8 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 52.00% จากระดับ 56.25 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 85.50 บาท ณ วันที่ 31 ส.ค.2564 โดยราคาหุ้นปรับตัวแรงจากพื้นฐานบริษัทที่แข็งแกร่งบวกกับเป็นหุ้นปันผลเด่นทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นเข้าลงทุน ประกอบกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 สัดส่วน 42.25% ยิ่งทำให้นักลงทุนมั่นใจในธุรกิจในอนาคต

บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า มีมุมมองเชิงบวกสำหรับ GULF หลังเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน INTUCH โดย GULF จะมุ่งเน้นในส่วน Digital Infrastructure ที่นำโดย INTUCH ซึ่งทาง GULF มีแผนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพสินทรัพย์ของ INTUCH โดยระยะแรกจะพยายามให้จ่าย Dividend กลับมาให้ GULF มากที่สุด

ทั้งนี้ มองว่ามีโอกาสที่ ADVANC จะกลับมาจ่ายปันผล Payout 100% ได้ จากปัจจุบันที่จ่ายอยู่ 70% ของกำไรสุทธิ ขณะที่ INTUCH จ่ายปันผลระดับเกือบ 100% อยู่แล้วในปัจจุบัน

สำหรับในระยะกลางถึงยาวจะมี Synergy Benefit ใหม่เพิ่มขึ้น เช่น พัฒนา Smart grid/smart city, Energy trading peer to peer ใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าของ AIS ที่มีถึง 40 ล้านหมายเลข รวมถึงพัฒนา data center ที่ต้องอาศัยไฟฟ้าที่มั่นคงซึ่งเป็นจุดแข็งของ GULF ส่วนกรณี ADVANC ที่กำลังศึกษา Digital Infrastructure fund ทาง GULF ยังไม่ได้ดูในรายละเอียดถ้ามีทิศทางที่ดีก็พร้อมสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม ในภาพโดยรวมยังเห็นUpside ของ ADVANC มากกว่า INTUCH ทั้งในด้านปันผลที่จะมากขึ้น และ Synergy โดยตรงในอนาคต จึงยังคงแนะนำ “ซื้อ” ADVANC มากกว่า INTUCH

 

อันดับ 5 คือ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ราคาหุ้นในช่วง 8 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 46.32% จากระดับ 13.60 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 19.90 บาท ณ วันที่ 31 ส.ค.2564 คาดราคาหุ้นปรับตัวแรงจากพื้นฐานบริษัทที่แข็งแกร่งและแนวโน้มผลงานโดดเด่นปีนี้

บล.ฟินันเซีย ไซรัส  ระบุในบทวิเคราะห์ (27 ส.ค.64) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 25 บาท กำไรไตรมาส 3/2564 มีลุ้นโตเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ฐานสูงปีก่อนจากค่าเงินบาทที่อ่อนและการฟื้นตัวของกลุ่ม Frozen และ Pet Care หักล้าง Ambient ที่อ่อนลง

ส่วนปลายปีมี Catalyst จากแผนนำ TFM จดทะเบียนในตลาดฯ ระยะยาวการเติบโตหนุนด้วยการเพิ่มสัดส่วน Innovation Product ซึ่งมี Margin สูงและยัง sm มีแผน Spin-Off ธุรกิจ Pet Care ในปี 2565 เพื่อปลดล็อคมูลค่าแฝง โดยคาดกำไรปี 2564-2565 โต 19% เทียบช่วงเดียวกกันของปีก่อนและ 6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ด้านบล.เอเซียพลัส (ASP) ประเมินภาวะตลาดหุ้นไทยในเดือน ก.ย.64 ว่า ดัขนีตลาดหุ้น (SET Index) จะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,560  1,650 จุด มีโอกาสปรับขึ้นต่อเนื่องจากเดือน ส.ค.ที่ดีดตัวขึ้นมาสวนทางกับที่คาดารณ์ไว้ โดย (2-28 ส.ค.) ปรับเพิ่มกว่า 89 จุด (+5.9%) เป็นผลจากแรงซื้อในช่วงปลายเดือนตอบรับปัจจัยเชิงบวก (1) การจัดหาวัคซีนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับในช่วงที่เหลือของปี 64 และบูสเตอร์โดสปี 65 (2) จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดลดลง และ (3) เก็งกำไรหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการคลายมาตรการล็อกดาวน์เริ่ม 1 ก.ย. สอดคล้องกับตัวเลขประมาณการจำนวนผู้ติดเชื้อคาดว่าทำจุดสูงสุดไปแล้วในช่วงกลางเดือน ส.ค. ทำให้เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 64 จะไม่เกิดภาวะหดตัวต่อเนื่องจากปี 63

ทั้งนี้ ปัจจัยบวกจากเดือน ส.ค.มองเป็น Sentiment บวกที่ต่อเนื่องถึงเดือน ก.ย.ประกอบกับการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เป็นบวกต่อตลาดหุ้น โดยเฟดจะปรับลดวงเงินโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ก่อนสิ้นปี 64 แต่ยังไม่เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงลดแรงกดดันต่อตลาดหุ้น ขณะที่ต้นเดือน ก.ย. ต้องติดตามการคัดสรรประธานเฟดที่จะหมดวาระในเดือน ก.พ.65 หากมีการเปลี่ยนแปลงจะสร้างความไม่แน่นอนให้กับภาพรวมการลงทุน

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button