TPS โชว์แบ็กล็อก 600 ลบ. มั่นใจดันผลงานปี 64 โตตามเป้า 20%

TPS คว้างานติดตั้งระบบสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 44.50 ล้านบาท หนุน Backlog จ่อทะลุ 600 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังสดใส ลุยประมูลงานรัฐ-เอกชน รวมทั้งรุกขยายไปยังธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ช่วยต่อยอดธุรกิจเดิมเพิ่มรายได้ มั่นใจผลักดันผลงานปีนี้โตเข้าเป้า 20%


นายบุญสม กิจเกษตรสถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TPS ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง จำหน่ายผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับงานใหม่ ประเภทงานติดตั้งระบบ โครงการซื้ออุปกรณ์สำหรับโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องแม่ข่ายพร้อมระบบบริหารจัดการ ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มูลค่าโครงการ 44,500,765 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

“แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ยังไม่คลี่คลาย แต่บริษัทฯ ยังสามารถเข้าประมูลงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และการได้รับงานใหม่ในส่วนของภาครัฐและเอกชนเพิ่มเติม ซึ่งจะสามารถทำให้มี Backlog เพิ่มขึ้นมากกว่า 600 ล้านบาท ขณะที่บริษัทฯ ตั้งเป้า Backlog ในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาท และมั่นใจว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผลงานปีนี้เติบโต 20% ตามเป้าหมายที่วางไว้”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TPS กล่าวอีกว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่ ทั้งงานของภาครัฐและเอกชน รวมทั้ง บริษัท เดอะวิน เทเลคอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ดำเนินธุรกิจติดตั้งสายสื่อสารโทรคมนาคมเสาไฟฟ้า ยังมีงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ 2-3 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 20 ล้านบาท พร้อมทั้งมีงานที่จะเข้าประมูลงานใหม่อีกหลายโครงการ และคาดว่า จะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังรุกขยายไปยังธุรกิจใหม่เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้อีกด้วย โดยที่ผ่านมาได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เอ็กซ์-ซีเคียว จำกัด (X-Secure Co.,Ltd) เป็นบริษัทย่อย เรียบร้อยแล้ว โดยจะเปิดให้บริการด้านความปลอดภัยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์อย่างครบวงจรหรือ Managed Security Service (MSS)

ทั้งนี้ จะให้คำปรึกษาและการออกระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์, จัดหาบริการศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามไซเบอร์ (CSOC: Cyber Security Operation Center & CSIRT : Cyber Security Incident Response Team) ที่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีชั้นนำที่ทันสมัย เช่น นวัตกรรม AI (Artificial Intelligence) และ ML (Machine Learning) และการเข้าไปจัดการแก้ไข ป้องกัน ภัยคุกคามไซเบอร์ อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตลอดจน พัฒนาบุคลากร (People) และการสร้างขบวนการทำงาน (Process) ของลูกค้าที่ใช้บริการให้เข้าใจ ตระหนักถึงและสามารถรับหรือเผชิญเหตุกับสถานการณ์ภัยเพื่อการบริหารระบบสารสนเทศให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามไซเบอร์อย่างยั่งยืน

Back to top button