10 หุ้น mai ทะยานไม่หยุด! 8 เดือนนลท.โกยรีเทิร์นเกิน 200%

10 หุ้น mai ทะยานไม่หยุด! 8 เดือนนลท.โกยรีเทิร์นเกิน 200% นำโดย IMH, NCL, UKEM, KWM, UMS, MVP, SONIC, EFORL, KUN, PJW และ BIZ


ภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วง 8 เดือนแรก 2564 ยังเป็นขาขึ้น และสวนวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไว้รัสโควิด-19 ระลอก 3-4 ได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเห็นได้จากดัชนี SET ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 อยู่ที่ระดับ 1,449.35 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 1,638.80 ณ วันที่ 31 ส.ค.64 บวก 189.40จุด หรือเพิ่มขึ้น 11.55%

อย่างไรก็ตามครั้งทีมข่ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจกลุ่มหุ้น SET50-SET100 นำเสนอไปแล้ว ในครั้งนี้จะขอนำเสนอกลุ่มหุ้น mai  ในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้มานำเสนออีกด้าน

โดยครั้งนี้คัดเลือกมา 10 อันดับแรกที่ราคาปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยเปรียบเทียบข้อมูลราคาหุ้น ณ วันที่ 30 ธ.ค.63-31ส.ค.2564 โดยเรียงลำดับปรับตัวมากสุดไปหาน้อยสุดได้แก่ IMH, NCL, UKEM, KWM, UMS, MVP, SONIC, EFORL, KUN, PJW และ BIZ ดังตารางประกอบ

สำหรับอับดับ 1 คือ บริษัท โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ จำกัด (มหาชน) หรือ IMH ราคาหุ้นในช่วง 8 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 537.61% จากระดับ 2.18 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 13.90 บาท ณ วันที่ 31 ส.ค.64 เนื่องจากเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ใช้บริการตรวจโควิดเพิ่มขึ้นและได้ปัจจัยบวกทั้งได้รับเลือกเป็นสถานพยาบาลฉีดวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” สำหรับรอบประชาชนทั่วไป จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทำให้แนวโน้มผลประกอบการเติบโตโดดเด่น ทำให้ราคาหุ้นทะยานแรงในช่วงดังกล่าว

ล่าสุด IMH รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิ 91.78 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันไตรมาส 2/63 ขาดทุน 17.05 ล้านบาท โดยในไตรมาส 2 ปี 2564 บริษัทฯมีรายได้รวม 214.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  182.06 ล้านบาทท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 566.63 เมื่อเทียบกบัไตรมาสเดียวกนัของปีก่อน การเพิ่มขึ้นของรายได้และการลดลงของอัตราค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น

เนื่องจากการเข้าซื้อธุรกิจ บริษัท สุขสวัสดิ์ การแพทย์ จำ กัด (โรงพยาบาลประชาพัฒน์) ซึ่งบริษัทซื้อกิจการเสร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน 2564 ทำให้กลุ่มบริษัทเข้าสู่การประกอบธุรกิจโรงพยาบาลแบบครบวงจร ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้มีผู้เข้ารับบริการตรวจหาเชื้อโควิด 19 และรับการรักษาในโรงพยาบาลประชาพัฒน์เป็นจำนวนมาก

โดยนายสิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IMH เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทฯประสบความสำเร็จในการจำหน่ายชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ชนิด Antigen Swab รวมถึงการให้บริการตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิดแบบละเอียด (IgG ll Quanti) ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้การตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างมาก

ล่าสุด IMH ได้เซ็นสัญญาพันธมิตรกับ บริษัท อาร์เค เมดเทค ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำเข้าอุปกรณ์ชุดตรวจโควิดด้วยน้ำลาย (Saliva Antigen Test Kit) ด้วยเทคโนโลยีใหม่ Nanacarbon Assay ซึ่งผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอุปกรณ์ดังกล่าวถูกต้องตรงตามมาตรฐานระดับสากลของโรงพยาบาล การใช้งานเพียงจุ่มชุดเครื่องมือในน้ำลายก็สามารถรู้ผลได้ภายใน 15 นาที

ชุดตรวจเชื้อโควิดด้วยน้ำลายแบบใหม่ (Saliva Antigen Test Kit) สามารถเริ่มทำการตลาดและจัดจำหน่ายได้ทันที วางตลาดที่ราคา 365 บาท/ชุด โดยบริษัทฯได้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 50,000 ชุด ขณะที่ชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ชนิด Antigen Swab  ตั้งเป้าไว้ที่ 50,000 ชุด ส่วนการให้บริการตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิดแบบละเอียด (IgG ll Quanti)  ตั้งเป้ารองรับผู้เข้ารับบริการได้มากกว่า 100,000 คน

ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้จะส่งผลให้ภายในไตรมาส 3/64 บริษัทฯจะมีรายได้จากการขายและการให้บริการ ประมาณ 250 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ IMH มีรายได้ทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมทั้งเป็นการตอกย้ำให้ IMH ก้าวสู่การเป็นผู้นำในการตรวจโควิด-19 แบบครบวงจร

อันดับ 2 บริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ NCL ราคาหุ้นในช่วง 8 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 447.95% จากระดับ 0.73 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 4.00 บาท ณ วันที่ 31 ส.ค.64 คาดเก็งกำไรหุ้นเล็กเทคนิคขาขึ้น และลุ้นผลงานฟื้นตัวต่อเนื่องหลังไตรมาส 2/2564 พลิกมีกำไร 20.01 ล้านบาท

ล่าสุด NCL ประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 2/64พลิกกลับมามีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 21.34 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 222.18 % จากงวดเดียวของปีก่อนขาดทุนก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 17.46 ล้านบาท และยอดสะสม 6 เดือน ปี 2564 มีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 44.71 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 381.82% จากงวด 6 เดือนของปีก่อน ซึ่งมีผลขาดทุนก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 15.87 ล้านบาท

ขณะที่รายได้รวม 6 เดือนสะสมอยู่ที่ 691 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 43.27% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 48.23 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากบริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้จากการให้บริการขนส่งเพิ่มขึ้น และสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี จึงทำให้มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 57.76%

สำหรับแนวโน้มธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าจะเติบโตอย่างโดดเด่นกว่าครึ่งปีแรก ตามแนวโน้มธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ที่ขยายตัวตามสถานการณ์การค้าโลก และธุรกิจบริษัทย่อยหนุน ซึ่งส่งผลบวกโดยตรงต่อ NCL ทั้งในแง่ของรายได้ และกำไรที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีแผนในการขยายธุรกิจด้าน Non-Logistic ที่มีศักยภาพในอนาคต อาทิเช่น ธุรกิจ Digital Content รวมถึงการเข้าร่วมประมูลงานต่างๆ จากภาครัฐ และโปรเจกต์กัญชง-กัญชา เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติเพื่อบันทึกข้อตกลงร่วมทุนกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง เพื่อเตรียมจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ในการสนับสนุนส่งเสริมงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ ร่วมกับคณะเกษตร มหาลัยเกษตรศาสตร์ โดยลงทุนเรื่องการปลูก สกัด และจำหน่าย กัญชง กัญชา ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้ธุริกจของ NCL มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

อันดับ 3 บริษัท ยูเนี่ยน ปิโตรเคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือ UKEM ราคาหุ้นในช่วง 8 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 365.71% จากระดับ 0.70 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 3.26 บาท ณ วันที่ 31 ส.ค.64 เนื่องจากนักลงทุนเข้ามาไล่ซื้อหุ้นขนาดเล็ก และสัญญาณทางเทคนิคเป็นขาขึ้น อีกทั้งผลประกอบการบริษัทมีแนวโน้มสดใส

ด้านนายพีรพล สุวรรณนภาศรี กรรมการผู้จัดการ UKEM เผยว่า บริษัทยังคงมั่นใจว่ายอดขายและกำไรสุทธิปีนี้จะเติบโต 10-15% หลังผลประกอบการช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่ดีกว่าครึ่งปีแรก จากปัจจัยของลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มฟื้นตัว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ด้านอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคและแพ็คเกจจิ้งก็ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

“ในช่วงไตรมาส 2/64 เราเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 และมาตรการของภาครัฐบางอย่างที่ไม่ชัดเจนทำให้กระทบต่อดีมานด์ของผู้บริโภค เช่น อุตสาหกรรมกาวก็ได้รับผลกระทบเพราะดีมานด์งานรองเท้า งานหนัง งานเฟอร์นิเจอร์ลดลง รวมทั้งเหตุผลทางฤดูกาล เมื่อเข้าฤดูฝนความต้องการเรื่องสีทาบ้านต่าง ๆ ก็ลดลงเช่นกัน แต่เนื่องด้วยบริษัทมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ยังมีรายได้จากลูกค้าอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคและแพ็คเกจจิ้ง หรือกลุ่มอื่น ๆ เข้ามาทดแทน

ทำให้ยอดขายครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 75 ล้านบาท และคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังที่มีการเดินหน้าฉีดวัคซีน หรือการนำเข้าชุดตรวจ ATK ก็จะทำให้มีสถานการณ์ที่ดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกได้” นายพีรพล กล่าว

สำหรับปัญหาราคาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น จากการปรับตัวของราคาน้ำมัน ซึ่งกระทบทุกช่องทางขนส่งไม่ว่าจะเป็นทางรถหรือทางเรือ โดยบริษัทมีการแก้ปัญหาด้วยการส่งต่อราคาให้กับลูกค้า ก่อให้เกิดการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ

นายพีรพล กล่าวว่า ทางด้านธุรกิจสินเชื่อใน บริษัท มหานครแคปปิตอล จำกัด ซึ่งทาง UKEM ถือหุ้นในสัดส่วน 60% นั้น ได้เริ่มให้บริการสินเชื่อในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา และเริ่มมีการทยอยรับรู้รายได้บางแล้ว โดยลูกค้าส่วนมากจะเป็นลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งปัจจุบันบริษัทก็ยังคงมองหาเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายลูกค้าให้มากขึ้น ประกอบกับพาร์ทเนอร์ที่ถือหุ้นอีก 40% ก็มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจสินเชื่อ จึงมั่นใจว่าธุรกิจนี้จะสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง

อันดับ 4 บริษัท เค. ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM ราคาหุ้นในช่วง 8 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 357.94% จากระดับ 1.07 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 4.90 บาท ณ วันที่ 31 ส.ค.64 เนื่องจากนักลงทุนเข้ามาไล่ซื้อหุ้นขนาดเล็ก และสัญญาณทางเทคนิคเป็นขาขึ้น อีกทั้งผลประกอบการบริษัทมีแนวโน้มสดใส

ล่าสุดบริษัทฯผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิ 50.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.84 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 132.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) มียอดขายเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าใบเกลียวที่เพิ่มขึ้น จากงวดเดียวกันถึงร้อยละ 113.53

นางสาวติยาภรณ์ วนโกสุม กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า จากตัวเลขผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกที่ออกมาดี ส่งผลให้บริษัทปรับเป้ารายได้ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 40% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 15-20% เมื่อเทียบจากปีก่อนที่มีรายได้ 355.06 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามบริษัทคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าผลผลิตทางการเกษตรจะมีออกมาค่อนข้างมากเนื่องจากน้ำ ดีและมีคุณภาพ แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความแปรปรวนของสภาพอากาศ และความผันผวนของเงินบาท

KWM เป็นผู้นำด้านการผลิตเครื่องสกัดระบบ SUPERCRITICAL FLUID CO2 EXTRACTION กัญชง-กัญชา และสมุนไพรไทย สัญชาติไทยเป็นรายแรกของประเทศว่า หลังจากที่บริษัทฯมียอดออเดอร์พร้อมติดตั้งเครื่องสกัดฯเข้ามาแล้วจำนวน10 เครื่องช่วงที่ผ่านมา

ล่าสุดบริษัทฯอยู่ระหว่างการเจรจาในการผลิตเครื่องจักรเพื่อติดตั้งและส่งมอบให้กับพันธมิตรรายใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปได้ในเร็วๆนี้ พร้อมทั้งนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการเดินหน้าสกัดสารสกัดจากกัญชง-กัญชา และพืชกระท่อม เพื่อมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ ยา อาหารและเครื่องดื่ม อย่างต่อเนื่องซึ่งแผนธุรกิจดังกล่าวจะเริ่มเห็นชัดเจนภายในครึ่งปีหลังนี้อย่างแน่นอน

อันดับ 5 หุ้น บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MVP ราคาหุ้นในช่วง 8 เดือนแรกปี 2564 ปรับตัวขึ้น 266.13% จากระดับ 1.24 บาท ณ วันที่ 30 ธ.ค.63 มาอยู่ที่ระดับ 4.54บาท ณ วันที่ 31 ส.ค.64 เนื่องจากนักลงทุนข้ามาเก็งกำไรหุ้นเล็กตามสัญญาณเทคนิคขาขึ้น และแผนธุรกิจในปีนี้น่าสนใจทำให้ราคาหุ้นทะยานแรงในช่วงดังกล่าว

ด้านนายโอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MVP เปิดเผยว่า บริษัทได้เปิดให้บริการ แพลตฟอร์ม Crypto Commerce ที่ร่วมพัฒนากับบริษัท โทเคไนน์ จำกัด คือ Token Plaza ซึ่งเป็นการต่อยอดในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชนมาพัฒนาเป็นตัวกลางในการช่วยร้านค้าต่างๆ ในการนำสินค้ามาเสนอขายผ่านแพลตฟอร์ม และกลุ่มลูกค้าที่มีเหรียญ Cryptocurrency สามารถนำเหรียญที่ถืออยู่มาใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าในแพลตฟอร์มได้ผ่าน Smart Contract ซึ่งจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมในการชำระค่าสินค้าที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเหรียญดิจิทัลในแพลตฟอร์ม โดยรายได้จากค่าธรรมเนียมจะเป็นการสร้างรายได้ในการให้บริการเข้ามาให้กับบริษัท

ทั้งนี้การปรับตัวของบริษัทในการหันมาดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชนและ Cryptocurrency คาดว่าจะทำให้ผลการดำเนินงานในปี 64 กลับมาฟื้นขึ้นได้ และเข้ามาช่วยสร้างรายได้ทดแทนจากรายได้ที่มาจากธุรกิจหลักของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานต่างๆ เช่น งาน Mobile Expo งานและธุรกิจท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศที่เข้ากดดันธุรกิจหลักของบริษัทมาเกือบ 2 ปีแล้ว

โดยที่ในปี 64 บริษัทจะมีรายได้ที่เข้ามาจากการเสนอขาย MVP Coin ที่บริษัทได้ออกมากจำนวน 1 พันล้านโทเคน ราคา 0.33 บาท/โทเคน ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้เข้ามาราว 330 ล้านบาท ในปีนี้ โดยปัจจุบันบริษัทได้มีกาเสนอขาย MVP Coin ไปแล้วในเฟสแรก 390 ล้านโทเคน ซึ่งมีผู้สนใจเข้ามาจองซื้อเป็นจำนวนมาก และขายหมดภายใน 5 ชั่วโมง และได้รับเงินจากการเสนอขายเข้ามากว่า 120 ล้านบาท และบริษัทจะมีการเสนอขาย MVP Coin ในเฟสต่อๆไป โดยที่ยังคาดว่าจะได้รับตอบรับที่ดีจากผู้สนใจ

“ธุรกิจเราเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ เมื่อก่อนเราจัดงาน Organize ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับ Mass participation อย่างงาน Mobile Expo แต่หลังจากโดนโควิดไปร่วม 2 ปี ก็ทำให้เราต้องมีการปรับธุรกิจ ตอนนี้ก็เป็นช่วงเริ่มของธุรกิจ Blockchain อย่างเหรียญ MVP Coin ก็เราหาแนวทางมาในการ Utilize สินค้าที่เรามี ปกติเรามีการออก Coupon Vocher ให้กับลูกค้าในการจองบูธ หรือซื้อสินค้าบริการของบริษัท แต่ตอนนี้ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เริ่มใช้ Crypto มากขึ้น เราก็ได้หาแนวทางพัฒนาแนวทางใหม่จาก MVP Coin ขึ้นมา

ในส่วนของ Blockchain เราก็หาแนวทางมาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มช่วยร้านค้าต่างๆนำสินค้ามาขายใน Token Plaza ที่จะเปิดในวันนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินรายได้ที่แน่นอนได้ เพราจะต้องรอผลตอบรับการเปิด Token Plaza ที่เราจะมีรายได้จากแพลตฟอร์มนี้มาจากค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่าน Smart Contract จากร้านค้า อย่างเช่น ลูกค้าซื้อสินค้าราคา 100 เหรียญ ลูกค้าก็จ่ายเต็ม ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมยกตัวอย่าง 7% ร้านค้าก็จะได้ 93 เหรียญ แบบนี้ ซึ่งตรงนี้เราขอดูก่อนว่าผลตอบรับจะเป็นอย่างไร”นายโอภาส กล่าว

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button