WTI วิ่งยาว 5 วัน “นิวไฮ” รอบเกือบ 3 ปี ลุ้นดีมานด์น้ำมันพุ่งหลังศก.เริ่มฟื้นตัว

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ที่ระดับ 75.45 ดอลลาร์/บาร์เรล ลุ้นดีมานด์น้ำมันพุ่งหลังคาดการณ์ศก.เริ่มฟื้นตัว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปีเมื่อคืนนี้ (27 ก.ย.) ขานรับการคาดการณ์ที่ว่า ความต้องการใช้น้ำมันจะพุ่งขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ รวมทั้งการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 4 ต.ค.

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 1.47 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 75.45 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2561

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 1.44 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 79.53 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2561

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดในแดนบวกติดต่อกัน 5 วันทำการ ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นใกล้แตะระดับ 80 ดอลลาร์ ขานรับความหวังที่ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกจะเป็นปัจจัยหนุนความต้องการใช้น้ำมันให้พุ่งขึ้นด้วย

ด้านนาย เกร็ก ฮิลล์ ประธานบริษัท Hess Copr คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 100 ล้านบาร์เรล/วันภายในสิ้นปี 2564 หรือภายในไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าปริมาณการใช้น้ำมันดิบในปี 2562 หรือช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยข้อมูลจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่า ปริมาณการใช้น้ำมันทั่วโลกในปี 2562 อยู่ที่ระดับ 99.7 ล้านบาร์เรล/วัน

ทางด้านโกลด์แมน แซคส์ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปีนี้ขึ้นสู่ระดับ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล จากระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากคาดว่าความต้องการน้ำมันจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ คาดว่าการที่พายุเฮอริเคนไอดาส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกจะส่งผลให้เกิดภาวะอุปทานตัว และเป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี โกลด์แมน แซคส์ คาดว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน และการที่กลุ่มโอเปกพลัสเพิ่มการผลิตนั้น จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มราคาน้ำมันด้วย

ด้านนักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันของโอเปกพลัสครั้งต่อไปในวันที่ 4 ต.ค. ซึ่งบรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะตัดสินใจเกี่ยวกับแผนการด้านอุปทาน โดยคาดว่าการประชุมดังกล่าวจะมีผลต่อทิศทางราคาน้ำมัน

Back to top button