เฮียริ่ง “สคบ.” ทุบหุ้นเช่าซื้อ คุมดอกเบี้ยไม่เกิน 15% คืนรถจบหนี้!

สคบ.ระดมความเห็น (เฮียริ่ง) 20 ต.ค.นี้ รื้อเกณฑ์เช่าซื้อรถ คุมดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ผู้เช่าบอกเลิกสัญญาห้ามเก็บหนี้ส่วนขาด ปิดสัญญาก่อนต้องมีส่วนลดของดอกเบี้ย ด้านผู้ประกอบการค้าน เหตุมีความเสี่ยงสูง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ทำหนังสือเวียนถึงนายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เพื่อให้ความเห็นประชาพิจารณ์ (เฮียริ่ง) ร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาพ.ศ. … ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้

โดยรายงานแจ้งว่าสาระสำคัญของร่างดังกล่าว คือ 1) กำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ 15% ต่อปี

2) ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบรถยนต์ ห้ามเก็บหนี้ส่วนขาด

3) ปิดสัญญาก่อนครบอายุ ต้องให้ส่วนลดไม่น้อยกว่า 80% ของดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

4) โอนสิทธิ์ให้บุคคลภายนอกซื้อรถคืนได้

และ 5) กรณีที่ขายทอดตลาด จะต้องขยายเวลาเพิ่มเป็น 2 เดือนในการแจ้งลูกค้าก่อน จากเดิมใช้เวลา 3 สัปดาห์

ทางด้านนายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เปิดเผยว่าการปรับเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อ หรือ ลีสซิ่งลงไม่เกิน 15%  ซึ่ง สคบ. อยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์ร่างคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา (20 ต.ค.นี้)  ไม่น่าจะกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก บริษัทมีสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ประมาณ 3% หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท ของพอร์ตทั้งหมด 8 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถป้ายแดง

“การลดเพดานดอกเบี้ยลงเหลือ 15% ไม่น่าจะผ่านเฮียริ่ง เพราะธุรกิจลีสซิ่งมีต้นทุนสูง เนื่องจากความเสี่ยงของสินเชื่อมีมากกว่าจำนำทะเบียนรถ เพราะเป็นผู้กู้รายใหม่ ขณะที่สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ดอกเบี้ยอยู่ที่ 24-28% ดังนั้น การปรับลดเพดานลีสซิ่งลงเหลือ 15% ซึ่งต่ำกว่าจำนำทะเบียนจึงไม่น่าเป็นไปได้  ซึ่งหากมีผลบังคับใช้จริงคงประมาณไตรมาสแรกปี 2565”

ทั้งนี้นายชูชาติ ยังคาดด้วยว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2564  MTC ยังคงเติบโตตามเป้าที่วางไว้ที่ 30%

ขณะที่นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR เผยว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ระบุในสัญญาได้ไม่เกิน 15% ต่อปี และห้ามเก็บหนี้ส่วนที่เหลือ ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบรถ (คืนรถจบหนี้) นั้น

สำหรับกรณีดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัททั้งในด้านผลการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากในปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อปล่อยใหม่ในกลุ่มรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตรเพียงเล็กน้อย คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 0.5% ของพอร์ตสินเชื่อปล่อยใหม่รายเดือนเท่านั้น

บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด ระบุว่า บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCAP และ บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMANAH จะได้รับผลกระทบมากที่สุด หากมีการปรับเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ และยานยนต์สำหรับทำฟาร์มลงเหลือ 15% โดยจะส่งผลเชิงลบต่องบกำไรขาดทุนของ NCAP ปี 2565 และยังเป็นข่าวที่ให้ผลเชิงลบด้าน sentiment อีกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อตัวเลขกำไรนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณา และระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

อ้างอิงจาก Consensus กำไรของ NCAP ปี 2565-66 ที่ 330 ล้านบาท และ 363 ล้านบาท ตามลำดับ

โดยคาดว่าสัดส่วนกำไรต่ออัตราการถือหุ้นของ บมจ.คอมเซเว่น (COM7) (33.9%) ใน NCAP ปี 2565-2566 จะอยู่ราว 112 ล้านบาท และ 123 ล้านบาท ตามลำดับ หรือ 4.8% และ 4.6% ของกำไร COM7 โดยจะส่งผลบวกต่อราคาเป้าหมายของ COM7 2.68 บาท (ราคาเป้า 70.87 บาท) และทุก ๆ 10% ของราคาหุ้น NCAP ที่ลดลง จะส่งผลต่อราคาเป้าหมาย COM7 1%

ด้าน บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) หรือ SYNEX จะมีกำไรจาก NCAP อยู่ที่ 88 ล้านบาท และ 97 ล้านบาท จากสัดส่วนที่ถืออยู่ 26.7% คิดเป็น 9.5% และ 8.9% ของกำไร SYNEX ในปี 2565-2566 และจะส่งผลบวกต่อราคาเป้าหมายของ SYNEX 2.35 บาท (ราคาเป้า 31.21 บาท) และทุก ๆ 10% ของราคาหุ้น NCAP ที่ลดลง จะส่งผลต่อราคาเป้าหมาย SYNEX 0.6%

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) มีมุมมองเป็น slightly negative ต่อร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร โดยกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ 15% ต่อปี ปัจจุบันไม่มีกำหนดเพดานดอกเบี้ย มองว่าอาจทำให้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ลดลง การกำหนดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อ 15% ต่อปี สำหรับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลการเกษตร เบื้องต้นบริษัทที่มีสินเชื่อเช่าซื้อ ในกลุ่มประเภทรถดังกล่าว และคิดอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 15% ต่อปี

โดยเฉพาะ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD และ MTC คาดว่า SAWAD จะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะมีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้ออยู่ที่ 12% และคิดอัตราดอกเบี้ย ประมาณ 30% ต่อปี ส่วน MTC มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อ อยู่ที่ 3% และคิดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 24% ต่อปี คงคำแนะนำ BULLISH ต่อกลุ่มสินเชื่อเพื่อการบริโภค หรือ  Consumer Finance และคงเลือก TIDLOR เป้าหมาย 44 บาท  และ บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO เป้าหมาย 11.4 บาท เป็น Top Pick

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST ประเมินว่า SAWAD จะได้รับผลกระทบมากสุดจากการปรับลดเพดานดอกเบี้ยลีสซิ่ง  ส่วน TIDLOR, บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER, บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI, บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS และ KTC จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัย เนื่องจาก 1. การควบคุมข้างต้นไม่ได้ครอบคลุมสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกที่ TIDLOR และบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) THANI ปล่อยเป็นสินเชื่อเช่าซื้อหลัก, 2. อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง หรือ EIR ของ THANI ต่ำเพียง 7%

3.SINGER ส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อกลุ่มCommercial และConsumer ที่ไม่อยู่ในกลุ่มที่ควบคุม ในขณะที่มีสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกที่ต่ำเพียง 0.5% ของสินเชื่อรวม, 4. AEONTS จะกระทบเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ในประเทศที่มีสัดส่วนสินเชื่อที่ 3% ของสินเชื่อรวม และคิด EIR ที่ 12% และ 5. KTC มีสินเชื่อเช่าซื้อที่โอนย้ายมาจากบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด หรือ KTBL ซึ่งคิด EIR ที่ต่ำ และปัจจุบันยังไม่มีการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อใหม่เพิ่มขึ้น

ขณะที่กลุ่มธนาคารไม่กระทบจาก loan yield ที่ต่ำ ส่วนกลุ่มธนาคาร มองเป็นกลาง เพราะปัจจุบันทุกธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยในสินเชื่อเช่าซื้อสำหรับรถยนต์ใหม่อยู่ที่ราว 3-5% ต่อปี และรถยนต์มือสองอยู่ที่ราว 6-8% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเพดานใหม่ที่กำหนดไว้ที่ 15% ต่อปี ส่วนประเด็นอื่น ๆ ก็ได้มีการทำตามระเบียบอยู่แล้ว ซึ่งไม่มีผลต่อกลุ่มธนาคาร

ดังนั้น จึงคงน้ำหนักการลงทุนเป็น “มากกว่าตลาด” แนะนำ “ซื้อ” ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เป้าหมายราคา 140.00 บาท  เป็น Top pick

Back to top button