DOD คว้าลูกค้ารายใหญ่ท้ายปี ลุยส่งออเดอร์ “Hemp Seed Oil” ตามนัดปลายพ.ย.นี้

DOD คว้าลูกค้าธุรกิจค้าปลีกชั้นนำของไทยเข้าพอร์ต ลุยส่งออเดอร์ "Hemp Seed Oil" ตามนัดปลายพ.ย.นี้ พร้อมรอรับใบอนุญาตตั้งโรงสกัดสาร CBD ภายในธ.ค.นี้


นายธนิน ศรีเศรษฐี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) หรือ DOD เปิดเผยภาพรวมช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 ว่า บริษัทฯ จะมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสารสกัดจากกัญชง และพืชกระท่อม (ซึ่งถือพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และรักษาความสามารถในการแข่งขันให้กับกลุ่มบริษัทฯ

โดยล่าสุด บริษัทฯ ได้รับออเดอร์ใหม่จากบริษัทธุรกิจค้าปลีกชั้นนำของไทยเข้ามา โดยมียอดออเดอร์ คำสั่งการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ และคาดว่าจะสามารถเริ่มทยอยส่งมอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ลูกค้าได้ภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน ทั้งนี้มองว่าการที่บริษัทฯ ได้ออเดอร์ใหญ่จากลูกค้าซึ่งเป็นค้าปลีกยักษ์ใหญ่ เป็นการการันตีให้เห็นถึงศักยภาพของ DOD ที่มีจุดแข็งและความพร้อมด้านโรงสกัดวัตถุดิบ พร้อมด้วยทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) ที่ค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาสารสกัดพืชสมุนไพร ในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งบริษัทฯเชื่อว่าการได้รับออเดอร์จากลูกค้ารายดังกล่าวเข้ามาจะช่วยหนุนการเติบโตของบริษัทฯ ในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดีจากความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์กัญชง และพืชกระท่อม ส่งผลให้ล่าสุดบริษัทฯ สามารถเตรียมส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในรูปแบบแคปซูลนิ่ม (Soft Gel) ที่มีส่วนผสมของน้ำมันจากเมล็ดกัญชง (Hemp Seed Oil) และโปรตีนจากเมล็ดกัญชงที่มีสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ต่ำกว่า 0.20% ให้กับลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งดำเนินธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รายแรกภายในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน หรือช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้

ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสารสกัดจากกัญชงของกลุ่มพันธมิตร อาทิ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN, บริษัท โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ KISS, บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY, บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO, บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด (มหาชน) หรือ FN และกลุ่มผู้ประกอบการทั่วไปนั้น ปัจจุบันได้มีการวิจัยและพัฒนาสูตรสำเสร็จในระดับหนึ่งแล้ว และอยู่ระหว่างการยื่นขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชงต่อคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถทยอยส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวได้ ภายในช่วงต้นปี 2565 ตามแผนที่วางไว้

อย่างไรก็ดีบริษัท สยาม เฮอเบิล เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ DOD จะเป็นบริษัทที่เข้ามาเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการในส่วนของโรงสกัดกัญชง และพืชกระท่อม โดยขณะนี้โรงสกัดสาร CBD ได้ผ่านการเห็นชอบจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ซึ่งคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานสกัดสาร CBD เพื่อเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชง ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้อย่างแน่นอน ซึ่งหากได้รับใบอนุมัติบริษัทฯก็สามารถดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ทันที

ด้านนางสาวสุวารินทร์ ก้อนทอง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน DOD กล่าวว่า จากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความเสี่ยงสูงและเปราะบาง ทำให้บริษัทฯ ได้ประเมินความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจระยะสั้น และระยะยาว จึงได้มีการปรับโครงสร้างของบริษัทฯด้วยการหยุดการดำเนินงานของบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจเครื่องสำอางและธุรกิจเครือข่าย เพื่อไม่ให้มีผลขาดทุนเพิ่มเติม อีกทั้งรักษาความคล่องของกลุ่มบริษัทเพื่อรองรับกับการเติบโตในอนาคต

ทั้งนี้แม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะกระทบให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรง แต่หากพิจารณาจากผลการดำเนินงานของธุรกิจหลัก (Core Business) ในรอบ 9 เดือน 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจาก 696.32 ล้านบาท เป็น 787.68 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 13.12 และมีกำไรจากการดำเนินงาน เพิ่มขึ้นจาก 205.82 ล้านบาท เป็น 266.45  ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 29.46 อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีกำไรส่วนของบริษัทใหญ่ 19.29 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 88.86 เทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการขาดทุนจำนวน 212.85 ล้านบาท จากการหยุดการดำเนินงานของบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่ง

ขณะที่ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ของบริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 184.25 ล้านบาท หรือลดลงในอัตราร้อยละ 36.53 เพราะได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 40.23 เป็น 42.15 เป็นผลมาจากการควบคุมต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และมีกำไรจากการดำเนินงาน  41.32 ล้านบาท หรือลดลงในอัตราร้อยละ 52.52  และมีกำไรส่วนของบริษัทใหญ่ 22  ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 68.33 เทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

Back to top button