สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 17 พ.ย. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 17 พ.ย. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 200 จุดเมื่อคืนนี้ (17 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบียเร็วกว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน และหุ้นบริษัทวีซ่า อิงค์

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,931.05 จุด ลดลง 211.17 จุด หรือ -0.58%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,688.67 จุด ลดลง 12.23 จุด หรือ -0.26% และดัชนี Nasdaq  ปิดที่ 15,921.57 จุด ลดลง 52.28 จุด หรือ -0.33%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นในวันพุธ (17 พ.ย.) ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และบวกขึ้นเป็นวันที่ 6 ติดต่อกัน โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งได้ช่วยบดบังความวิตกเกี่ยวกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้น

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 489.95 จุด เพิ่มขึ้น 0.68 จุด หรือ +0.14%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,156.85 จุด เพิ่มขึ้น 4.25 จุด หรือ +0.06%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 16,251.13 จุด เพิ่มขึ้น 3.27 จุด หรือ +0.02% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,291.20 จุด ลดลง 35.77 จุด หรือ -0.49%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันพุธ (17 พ.ย.) โดยถูกกดดันจากความวิตกว่าเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีจะกระตุ้นให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนหน้า นอกจากนี้ เงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มส่งออกด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่  7,291.20 จุด ลดลง 35.77 จุด หรือ -0.49%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 80 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (17 พ.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่วา รัฐบาลสหรัฐอาจระบายน้ำมันออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 2.40 ดอลลาร์ หรือ 3% ปิดที่ 78.36 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2564

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 2.15 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 80.28 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (17 พ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลารยังช่วยให้สัญญาทองคำมีความน่าดึงดูดมากขึ้น

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 16.1 ดอลลาร์ หรือ 0.87% ปิดที่ 1,870.2 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย. 2564

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 22.3 เซนต์ หรือ 0.89% ปิดที่ 25.167 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 5.4 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1,069.1 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 16.90 ดอลลาร์ หรือ 0.8% ปิดที่ 2,184.50 ดอลลาร์/ออนซ์

เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (17 พ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค. หลังเงินเฟ้อพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.09% แตะที่ 95.8305 เมื่อคืนนี้

เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.3484 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3428 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1314 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1316 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7260 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ  0.7301 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 114.14 เยน จากระดับ 114.69 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9283 ฟรังก์ จากระดับ 0.9310 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2614 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2559 ดอลลาร์แคนาดา

Back to top button