“ผยง ศรีวณิช” เปิด 4 มิติ “FinTech Company” เชื่อมโยง ESG สู่การพัฒนายั่งยืน

“ผยง ศรีวณิช” ร่วมเวที Battle Strategy เปิด 4 มิติ "FinTech Company" เชื่อมโยง ESG สู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยบนพื้นฐานของความยั่งยืน


นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยในงานสัมมนา Battle Strategy แผนฝ่าวิกฤต พิชิตสงคราม จัดโดย ข่าวหุ้นธุรกิจ และ SCB Thailand ในวันที่ 26 พ.ย.64 ถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเงินที่ทำให้ FinTech company กลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในโลกการเงิน

ทั้งนี้ สะท้อนจากผลสำรวจชาวอเมริกันของ McKinsey ในปี 2563 พบว่า 42% มีใช้บริการด้านการเงินของบริษัท FinTech ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z และ Millennials ซึ่งมีบัญชี FinTech โดยรวมมากที่สุด

เช่นเดียวกับผลสำรวจของ EY ในปี 2564 ที่ชี้ว่า 27% ของผู้บริโภคทั่วโลกมีการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารรูปแบบใหม่ หรือ Neobanks นอกจากนั้น ในมุมของเม็ดเงินลงทุนยังเติบโตต่อเนื่อง

โดยงานวิจัยของ KPMG เผยว่าในครึ่งแรกของปี 2564 มีการลงทุนใน FinTech company ทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือจำนวนกว่า 2 พันดีล ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในครึ่งปีหลังของปี 2563

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้กรอบแนวคิดด้าน “สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล” (ESG) ถูกยกให้เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจและการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องผนวกเป็นส่วนหนึ่งกับแนวทางดำเนินพันธกิจองค์กร รวมถึงภาคการเงินเองซึ่งจะต้องมีบทบาทเพิ่มขึ้น

ทั้งการ address กระแสสังคมคาร์บอนต่ำ และการเปลี่ยนผ่านสู่ Green economy ที่หลายประเทศเริ่มตื่นตัวและยึดเป็น agenda สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมให้กับภาคธุรกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้แก่ธุรกิจรายย่อย เพื่อให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสในการเติบโตได้อย่างมั่นคง

โดย 4 มิติของ ESG ที่สามารถใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีการเงินและ FinTech Company ได้แก่

มิติแรก คือ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ SMEs ซึ่งตั้งแต่ก่อนเจอวิกฤตโควิด-19 หลังเผชิญปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสภาพคล่อง

โดยงานวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยว่าในปี 2561 มี SMEs เพียง 5.2 แสนราย หรือ 17% ของ SMEs ทั้งหมดกว่า 3 ล้านราย ที่เข้าถึงสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์

ขณะที่วิกฤตโควิด-19 กระทบสถานะการเงินและการดำเนินธุรกิจของ SMEs ให้ย่ำแย่ลง สะท้อนจากยอดสินเชื่อ SMEs ที่ปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินที่มากถึงกว่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งมีนัยต่อ Credit risk ที่สูงขึ้น ซ้ำเติมความสามารถในการเข้าถึงเงินทุน โดยเฉพาะในระบบที่อิงกับหลักประกันหรือ Cash flow ในบัญชี ซึ่งจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันกับรายใหญ่ที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้เร็วกว่า

นอกจากนั้น การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงเงินทุนด้วยต้นทุนต่ำ รวมถึงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ คืออีกโจทย์ใหญ่ของประเทศ โดยเฉพะในกลุ่มอาชีพอิสระหรือผู้ที่ไม่ได้ทำงานประจำ ซึ่งอาจไม่ประวัติทางการเงินที่เพียงพอในการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ แต่พวกเขาเหล่านั้นอาจมีความสามารถในการชำระคืนสินเชื่อได้เป็นอย่างดี

มิติที่สอง การสร้างความยั่งยืนจากโอกาสในการออมและการลงทุน โดยผลการสำรวจการออมภาคครัวเรือนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าครัวเรือนไทย 5.8 ล้านครัวเรือน หรือ 27.1% ของครัวเรือนทั้งประเทศ ไม่มีเงินออม และเมื่อพิจารณาถึงวิธีการออมคนไทยพบว่า 38.9% มีพฤติกรรมใช้ก่อนออม คนไทย 38.5% ออมไม่แน่นอน มีเพียง 22.6% เท่านั้นที่มีพฤติกรรมออมก่อนใช้ นอกจากนี้ข้อมูลของการสำรวจประชากรสูงอายุของประเทศไทย พบว่า ในช่วงหลังเกษียณผู้สูงอายุ 34.7% ยังต้องพึ่งพารายได้จากบุตรหลาน

ขณะที่ 31% ยังต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง และมีเพียง 2.3% ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้จากเงินออม สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อย อาจมีความเสี่ยงให้ต้องเผชิญเกษียณทุกข์ได้ในอนาคต จากการมีเงินออมสำหรับใช้จ่ายไม่เพียงพอหากหยุดทำงาน

มิติที่สาม คือ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจ การเร่งยกระดับประสิทธิภาพการฟื้นฟูผลการดำเนินงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ คืออีกโจทย์ท้าทายของประเทศไทย เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก แม้ล่าสุด World Bank ได้จัดสถานะความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ ในประเทศไทยให้อยู่อันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลก แต่ยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับที่ 12

ขณะที่มีบางด้านที่ควรเร่งปรับปรุงเพราะยังทิ้งห่างหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะด้านการชำระภาษี (อันดับ 68) ด้านการค้าระหว่างประเทศ (อันดับ 62) และด้านการได้รับสินเชื่อ (อันดับ 48) เป็นต้น

มิติที่สี่ คือ ความยั่งยืนจากการดำเนินนโยบายรัฐที่ตรงจุดและโปร่งใส ภาครัฐถือเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กิจกรรมของภาคธุรกิจเอกชนมีความซบเซาลง และงบประมาณภาครัฐกลายเป็นหนึ่งในกลไกหลักในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นประสิทธิผลในการดำเนินนโยบายภาครัฐอย่างตรงจุดและมีความโปร่งใสจึงเป็นประเด็นสำคัญมากที่เทคโนโลยีการเงินสามารถเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งได้

ทั้งนี้ ประเทศที่มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและ FinTech ก็มักจะมีประสิทธิผลการดำเนินงานของภาครัฐที่สูงด้วย เช่น ในปี 2563 อันดับด้าน Government Effectiveness ประเทศสิงคโปร์ครองแชมป์อยู่อันดับที่ 1 และเอสโตเนียอยู่อันดับที่ 25 จาก 145 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 49 (ข้อมูลจาก World Bank)

นายผยง กล่าวปิดท้ายว่า ศักยภาพของเทคโนโลยีการเงินจะถูกพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาสู่โลกของ FinTech มากขึ้น โจทย์ด้านของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยและของโลกก็มีความซับซ้อนและมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ ความร่วมมือกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถดึงพลานุภาพของ FinTech เข้ามาสร้างคุณค่า เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์สังคมไทยให้เศรษฐกิจเติบโตบนฐานของความยั่งยืน มีภูมิคุ้มกันต่อภัยคุกคามและความไม่แน่นอน และพร้อมปรับตัวรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

Back to top button