
สามสัปดาห์… สั้นหรือยาว? โจทย์ใหญ่ไทยต้องเร่งเกมเจรจา “ภาษีสหรัฐ” ก่อนสะเทือนส่งออก
สามสัปดาห์สุดท้ายก่อนเส้นตาย 1 สิงหาคม ไทยต้องเร่งหาทางรอดจากภาษีศุลกากรสหรัฐฯ 36% ที่เขย่าอุตสาหกรรมส่งออกและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ แม้การเจรจาอาจไม่มี win-win อย่างที่รัฐบาลคาดหวัง แต่ทุกฝ่ายรู้ดีว่า การยืนเฉยไม่ใช่ทางเลือก หากไทยต้องการรักษาที่มั่นในสมรภูมิการค้าโลก
เหลือเวลาเพียงสามสัปดาห์ก่อนเส้นตายวันที่ 1 สิงหาคม 2568 ซึ่งสหรัฐอเมริกาจะเริ่มบังคับใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) อย่างเป็นทางการ โดยสื่อต่างประเทศรายงานว่า ทำเนียบขาวส่งจดหมายแจ้งมาตรการนี้ไปอย่างน้อย 22 ประเทศ ในช่วง 7–11 กรกฎาคม 2568 ช่วงที่ผ่านมา ซึ่งบางฉบับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยผ่าน Truth Social
โดยหนึ่งในนั้นคือจดหมายถึงรัฐบาลไทย ที่ระบุชัดว่าสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จะถูกเก็บภาษี 36% ไม่เพิ่มขึ้นจากวัน “Liberation Day” 2 เมษายน 2568 แต่ไม่ลดลงเช่นกัน เปิดทางเจรจา ภายใต้เงื่อนไขว่าประเทศไทยต้องพิจารณาเปิดตลาดที่เคยปิดต่อสหรัฐฯ และยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าบางส่วน
ตัวเลขที่สะเทือนทุกอุตสาหกรรม
สำหรับผู้ประกอบการไทย อัตราภาษีตอบโต้ในระดับ 36% ไม่ใช่เพียงตัวเลขเชิงสถิติ หากแต่เป็นแรงกดดันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียคำสั่งซื้อ การลดลงของส่วนแบ่งตลาด และความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างรุนแรงต่อไปในอนาคต
ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่า หากไม่มีมาตรการรองรับ ความเสียหายอาจสูงถึง 800,000-900,000 ล้านบาท การส่งออกครึ่งปีหลังอาจหดตัว 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ กลุ่มเครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักรไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูงกว่า 28-35% ของมูลค่าส่งออก รวมถึงยาง เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ของเล่น ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก ผลิตภัณฑ์หนัง และเซรามิก ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบระดับสูงถึงสูงมาก
ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าการส่งออกไทยครึ่งปีหลังอาจหดตัว 4% โดยมีรายงานว่า ช่วงก่อนประกาศภาษี ท่าเรือสำคัญอย่างแหลมฉบังและกรุงเทพฯ เผชิญปัญหาค่าขนส่งพุ่ง รถรอคิวนาน และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นกว่า 600-800 ล้านดอลลาร์ต่อปี

โลกไม่รอไทย
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Dr.KOB วิเคราะห์ว่า รอบนี้ไม่ใช่แค่ “เสียงดัง” แต่เป็น “ของจริง” เพราะตลาดทุนสหรัฐฯ ผ่านจุดตกใจมาแล้ว ผู้ประกอบการเร่งสต๊อกวัตถุดิบในช่วง 90 วันที่สหรัฐฯ ชะลอภาษี
ขณะเดียวกัน ประชาชนสหรัฐฯ มีกฎหมาย One Big Beautiful Bill (OBBB) ลดภาษีในหลายด้าน เช่น ลดภาษี OT Social Security และช่วยเหลือ SME แม้ราคาสินค้าแพงขึ้น แต่กำลังซื้อในประเทศยังรองรับได้
นอกจากนี้ ภาษีนำเข้าช่วยลดขาดดุลการคลัง หนุนความนิยมทางการเมืองของทรัมป์ ทั้งหมดนี้ทำให้เขามีพื้นที่เดินหน้าเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลแรงต้านภายใน
สามสัปดาห์ สั้นหรือยาว?
ระยะเวลาเพียงสามสัปดาห์ก่อนที่มาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ อาจดูสั้นหากเปรียบเทียบกับกระบวนการเจรจาระหว่างประเทศที่ต้องใช้ความรอบคอบและละเอียดรอบด้าน ขณะนี้หลายประเทศ อาทิ เวียดนาม สหราชอาณาจักร ได้ต่อรองลดภาษีบางส่วน ขณะที่จีน อินเดีย สหภาพยุโรป (EU) อยู่ระหว่างการเจรจา ไทยเองต้องหาคำตอบว่า จะต่อรองอย่างไรเพื่อให้ได้ดีลที่เป็นประโยชน์? จะเยียวยาผู้ประกอบการภายในประเทศได้เร็วแค่ไหน? และจะแก้ปัญหาต้นทุนโลจิสติกส์ที่ซ้ำเติมอุตสาหกรรมไทยได้หรือไม่?
แม้ภาษีทรัมป์กำลังเขย่าโครงสร้างการค้าโลก (New Trade Landscape) แต่หากไทยมองเฉพาะตัวเลขส่งออกเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ประเทศพลาดโอกาสในการยกระดับศักยภาพภาคอุตสาหกรรม ขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคใหม่ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล และส่งเสริมการสร้างแบรนด์สินค้าไทยให้มีความโดดเด่นในตลาดโลกอย่างยั่งยืน
ดังที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. เตือนว่า “ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติครั้งใหญ่ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน… หากเรามีความร่วมมือที่เข้มแข็ง วิกฤติครั้งนี้อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่จะนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาและยกระดับประเทศให้ดียิ่งขึ้น”
ไม่หยุดเดินเกม
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์ นำทีมรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก และอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ประชุมเร่งด่วนเพื่อประเมินผลกระทบจากภาษีศุลกากรชุดใหม่นี้

ไทยมีเวลาเจรจาถึง 1 สิงหาคมเท่านั้น ในการหาข้อยุติเบื้องต้น นายพิชัย ย้ำว่า ไทยไม่ตั้งเป้าตัวเลข แต่ต้องไม่เสียเปรียบคู่แข่ง ขณะที่หน่วยงานหลัก เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ และภาคเอกชน ต่างจัดทำข้อเสนอเชิงเทคนิคให้กระทรวงการคลังใช้ต่อรอง
นั่นหมายความว่า…
ทีมไทยแลนด์ต้องไม่หยุด
ต้องทุ่มทุกสรรพกำลังที่มี
ไม่ใช่การสยบต่อมหาอำนาจ
แต่คือการวางกลยุทธ์เพื่อสร้างสมดุล
ไม่ให้ประเทศไทยตกขบวนการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
แม้เกมนี้อาจไม่มี win-win สำหรับทุกฝ่าย แต่ไทยต้องหาทางรอด เพราะสุดท้าย สามสัปดาห์ที่เหลือก่อนเส้นตายภาษีการค้า สั้นหรือยาว อาจไม่สำคัญเท่าคำถามว่า ไทยพร้อมแค่ไหนที่จะใช้ทุกนาทีให้คุ้มค่าที่สุด!!!