SCB CIO แนะปรับการลงทุน ชู 6 กลยุทธ์ รับมือ “โอไมครอน”

SCB CIO แนะปรับการลงทุน เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงตลาดผันผวน ชู 6 กลยุทธ์ รับมือ “โอไมครอน”


นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO) เปิดเผยว่า ไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอน เป็นสิ่งยืนยันความจริงที่ว่า โควิด-19 จะยังอยู่กับทุกคนไปอีกนาน และมีความเป็นไปได้ที่จะมีไวรัสกลายพันธุ์อื่นๆ เกิดขึ้นในอนาคตต่อไป ดั่งเช่น สายพันธุ์ที่พบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ อัลฟา และ เดลต้า ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และ มีการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับพอร์ตการลงทุนให้รองรับกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ

ทั้งนี้คาดว่า ตลาดการลงทุนในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า ยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงเรื่องไวรัสกลายพันธุ์ โดยเฉพาะในระหว่างที่กำลังรอผลการศึกษาของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลายแห่งว่า วัคชีนที่ใช้กันในปัจจุบันจะยังมีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอนได้หรือไม่ และความรุนแรงของผู้ป่วยจะมากหรือน้อยกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีการแพร่ระบาดก่อนหน้านี้ ขณะที่ประเด็นในเชิงลบจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสไปยังประเทศต่างๆในช่วง 2 สัปดาห์ต่อจากนี้  ถึงแม้ว่าหลายประเทศจะมีการออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดได้อย่างรวดเร็วก็ตาม แต่ความกังวลก็ยังคงมีอยู่ จากการที่ไวรัสกลายพันธุ์นี้ มีแนวโน้มที่จะติดต่อกันได้ง่ายกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ

สำหรับปัจจุบันนักลงทุนจะยังคงมีความกังวลต่อประเด็นการพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นตื่นตระหนก (panic) จนเกินไป เนื่องจากข้อมูลความรู้ในประเด็นนี้ยังมีไม่มากเท่าไรนัก โดยตลาดฯ จะมีการคาดการณ์ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบจนกว่า ตลาดฯ จะได้รับการยืนยันจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า ดังนั้น ตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปัจจุบันมี valuation ค่อนข้างแพง และ อยู่ในช่วงใกล้ปลายปีที่กิจกรรมการซื้อขาย (trading activity) จะลดลงอยู่แล้ว ประกอบกับเข้าใกล้เทศกาลวันหยุด จึงมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ (side way) และจะได้รับแรงกดดัน เรื่อง downside มากกว่า upside โอกาสที่ตลาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง จึงเป็นไปได้อย่างจำกัด

SCB CIO ประเมินสมมติฐาน เพื่อใช้ในการวางแผนกลยุทธ์การลงทุน เพื่อเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์นี้เป็น 2 กรณี ดังนี้

1.กรณีเลวร้าย (Worse case) เกิดขึ้นในกรณีที่หากผลการศึกษา พบว่า วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกัน ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อโควิดซ้ำในคนที่ได้รับวัคซีน ครบทั้ง 2 โดสแล้วในวงกว้างได้ นั่นหมายความว่า การฉีดวัคซีนทั่วโลกจะต้องเริ่มต้นกันใหม่หรือไม่ แม้ว่าจะไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เพราะวัคซีนที่ประชากรโลกได้รับไปแล้วสามารถลดอัตราการเสียชีวิต หรือ หลีกเลี่ยงจากอาการป่วยหนักได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการกลับมาติดเชื้ออีกครั้ง ส่งผลให้ ประเทศต่างๆ จะกลับมาดำเนินมาตการป้องกันการแพร่กระจายไวรัสกันอีกรอบ เช่น Social distancing แบบเข้มข้น การปิดประเทศเป็นบางส่วน (partial lock down) โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง หรือกำลังความสามารถในการรับมือด้านสาธารณสุขไม่เพียงพอ

โดยการพัฒนาและการระดมการฉีดวัคซีนใหม่จะรวดเร็วมากขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นการพัฒนาต่อยอดของวัคซีนในรุ่นปัจจุบัน และระบบสาธารณสุขมีความชำนาญในการแจกจ่ายวัคซีนในวงกว้างแล้ว ซึ่ง SCB CIO ประมินว่า น่าจะใช้ระยะเวลารวมทั้งสิ้น 145 วัน โดยใช้ระยะเวลา 45 วัน ในการพัฒนาวัคซีน และใช้ระยะเวลา 100 วัน ในการกระจาย และ ฉีดวัคซีนใหม่ให้อยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้

ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบอีกรอบ โดยเฉพาะในภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร การท่องเที่ยว การเดินทาง เป็นต้น ห่วงโซ่การผลิต (Supply chain) จะกลับมาถูกกระทบอีกครั้ง เพราะ การปรับโครงสร้าง supply chain ของประเทศต่างต้องใช้เวลา ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อน่าจะปรับตัวลดลงได้ จากอุปสงค์ในภาคการบริโภคที่หดตัว และราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลง แม้ว่า supply disruption จะทำให้ราคาสินค้าบางประเภทปรับเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ชะลอลง จะทำให้ราคาสินค้าลดลงมากกว่า

ด้านธนาคารกลางของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับท่าที จากการถอนการอัดฉีดสภาพคล่อง ตามที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว กลับมาเป็นความกังวลผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโอเมครอนต่อเศรษฐกิจ และชะลอการถอนการอัดฉีดสภาพคล่อง ในขณะที่มีแนวโน้มที่ดอกเบี้ยจะชะลอระยะเวลาการปรับขึ้นออกไป สำหรับนโยบายการคลังเผชิญข้อจำกัดทางด้านหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น จากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหา covid ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจได้มากเหมือนเดิม

สำหรับในกรณี worse case นี้ ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงต่อ โดยบริษัทฯ ประเมินว่า จะสามารถลดลงได้ถึง -20% เพราะ panic sell อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงจะน้อยกว่าช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อปี 2563 ประมาณครึ่งหนึ่ง เพราะ ครั้งนี้ไม่ได้เกิดการปิดเมืองเต็มรูปแบบทั่วโลก (fully global lock down) และ ทุกประเทศเรียนรู้การรับมือได้ดีมากขึ้นจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

2.กรณีปกติ (Normal most likely case) เกิดขึ้นในกรณีที่ วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกัน แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพที่ลดลง และอาจมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการฉีดเข็มที่สาม booster dose ส่งผลให้การระบาดของ โอไมครอน จะกระจายไปหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ เพราะประชากรโลกมีการฉีดวัคซีน 2 เข็มเป็นจำนวนมากแล้ว (ยกเว้นประเทศในแถบทวีปอาฟริกา) ซึ่งตลาดหุ้นจะถูกแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 กลุ่มคือ

กลุ่มประเทศที่ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนต่อประชากรเป็นจำนวนมากแล้ว และเป็นประเทศผู้ครอบครองการผลิตวัคซีน ที่หากจำเป็นต้องมีการฉีด booster dose และวัคซีนรุ่นใหม่ จะทำได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอ เช่น สหรัฐฯ และ ยุโรป ดังนั้นตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้บ้าง แม้ว่า upside จะอยู่ในวงจำกัด เพราะเข้าใกล้ปลายปี ที่ trading activity จะชะลอตัวลง ตามการเข้าใกล้ช่วงเทศกาลวันหยุด และประเทศจีนที่ดำเนินนโยบาย zero covid prevention อย่างเข็มข้น เช่นไม่ให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศ และยังไม่เปิดประเทศให้คนต่างชาติเข้าไปด้วยเช่นกัน

กลุ่มประเทศที่ไม่มี technology เรื่องวัคซีนเป็นของตนเอง และต้องรอการนำเข้าเพิ่มเติม โดยเฉพาะวัคซีนสูตรใหม่ จะกระจายและฉีดเข็มกระตุ้น booster dose ได้ช้ากว่า ประเทศในกลุ่มแรก ทำให้เศรษฐกิจจะถูกผลกระทบมากกว่า จาก partially lock down และการปิดกั้นการเดินทางระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เงินเฟ้อจะไม่ปรับตัวลดลง และอาจได้รับผลกระทบจากปัญหา supply chain ที่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มมากขึ้นอีก และธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงดำเนินนโยบายปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE tapering) ตามกำหนดเดิม ดังนั้นผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดรอบนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อ และ นโยบายการถอนสภาพคล่องจะส่งกระทบกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา / กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market) มากกว่า

โดยเฉพาะกลุ่ม emerging southeast Asia ที่มีการกลับมาเปิดประเทศ (reopening) เพื่อรับนักท่องเที่ยวกันไปแล้ว ก่อนภูมิภาคอื่นในช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีความเสี่ยงสูงการแพร่ระบาดจาก โอไมครอน และการท่องเที่ยวจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ดังนั้น ตลาดหุ้นในประเทศกลุ่มนี้จะได้รับแรงกดดันอยู่ต่อไปจนถึงปีหน้า

อย่างไรก็ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอน และความเสี่ยงในการลงทุนจากตลาดฯ ที่มีความผันผวนสูง ทาง SCB CIO จึงแนะนำการลงทุนที่เป็นโอกาส และการลงทุนที่ควรหลีกเลี่ยง ดังต่อไปนี้ การหาจังหวะเข้าลงทุน เมื่อตลาดฯ มีการปรับฐานจากความกังวลเรื่องโควิดในช่วงนี้ ได้แก่

(1) กลุ่ม healthcare โดยเฉพาะ หุ้น หรือกองทุน healthcare ที่มีการลงทุนในบริษัทผู้ผลิตวัคซีน และยา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันและ รักษา covid ที่ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่กับทุกคนไปอีกนาน

(2) หุ้นหรือกองทุนในกลุ่มที่ได้อานิสงค์จากธีม work from home เช่น หุ้นกลุ่ม technology ที่มีลักษณะเป็น หุ้นคุณภาพที่มีโอกาสเติบโตสูง (quality growth) ซึ่งการเติบโตของกำไรอยู่ในระดับสูง และที่มาของรายได้มีการกระจายตัวในหลากหลายธุรกิจหลัก ตลอดจนมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง ซึ่งส่วนใหญ่ คือ บริษัทในกลุ่ม technology ขนาดใหญ่

(3) หุ้นหรือกองทุนในกลุ่มภูมิภาคที่จะมีความเสี่ยงเรื่องโควิดต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศหรือภูมิภาคอื่น เช่น กลุ่มประเทศที่มีการคิดค้น technology เกี่ยวกับวัคซีนเป็นของตนเอง ดังนั้น เมื่อมีการระบาด หรือมีการกลายพันธุ์ในอนาคต ก็จะสามารถพัฒนาวัคซีน และนำมาใช้กับประเทศของตนเองได้ก่อน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น สหรัฐฯ และ ยุโรป นอกจากนี้ ตลาดฯ ทั้ง 2 แห่ง ยังเป็นตลาดฯ ที่มีหุ้นในกลุ่ม technology และกลุ่ม healthcare เป็นสัดส่วนที่สูงอีกด้วย

(4) หุ้นหรือกองทุนในตลาดจีน โดยประเทศจีนมีความเสี่ยงเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 น้อยกว่าประเทศอื่น เนื่องจาก ใช้นโยบาย zero-tolerance covid ในขณะที่ valuation ได้ปรับลดลงมามากแล้ว จากการปรับฐานในปีนี้ นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังมีแนวโน้มเติบโตอยู่ในระดับที่ดีในระยะยาว

(5) การลงทุนในกลุ่มที่เป็นเทรนด์การเติบโตระยะยาว 10 – 20 ปีข้างหน้า ที่เรียกว่า super thematic เช่น หุ้นในกลุ่ม อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ หุ้นกลุ่มพลังงานทางเลือก EV car, Energy storage และ ESG เป็นต้น เนื่องจาก หลายประเทศทั่วโลกล้วนมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดปัญหาโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทำให้มีเม็ดเงินลงทุนและความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งในปัจจุบันและต่อเนื่องไปในอนาคตข้างหน้าอีกหลายสิบปี

(6) หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม technology infrastructure เช่น Digital platform, Fintech, Metaverse, 5G – 6G, Semiconductor เป็นต้น

สำหรับหุ้นในกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในช่วงนี้ ได้แก่

(1) หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวกับธีมการเปิดประเทศ (reopening) เช่น ท่องเที่ยว โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

(2) หุ้นหรือกองทุนที่ลงทุนในประเทศที่เศรษฐกิจมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก เช่น ตลาดหุ้นไทย

(3) หุ้นหรือกองทุนที่ลงทุนในตลาดอินเดีย โดยอินเดียมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว หากเริ่มมีการติดเชื้อจากสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น เพราะประชากรมีจำนวนมาก ในขณะที่ valuation ของหุ้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพง

(4) หุ้นหรือกองทุนที่ลงทุนในน้ำมัน เนื่องจาก อุปสงค์และอุปทานมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการเกิด partial lock down จากการระบาดอีกครั้ง

Back to top button