กสทช.จับมือ 4 ค่ายมือถือทดสอบ Mobile ID หวังใช้แทนบัตรประชาชน Q1/65

กสทช.จับมือ 4 ค่ายมือถือ AIS-DTAC-TRUE และ NT ทดสอบระบบ Mobile ID หวังใช้แทนบัตรประชาชน คาดเริ่มใช้จริงไตรมาส 1/65


สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดตัว “Mobile ID” เบอร์มือถือ แทนบัตร แทนตัวคุณ ต่อยอดการใช้ประโยชน์ฐานข้อมูล ลงทะเบียน SIM Card ของเลขหมายโทรศัพท์มือถือให้กลายเป็นหนึ่งใน Digital Identity ของประเทศไทย

โดยระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ “Mobile ID” ที่ กสทช. ร่วมมือกับโอเปอร์เรเตอร์ทั้ง 4 ค่าย ไม่ว่าจะเป็น AIS, DTAC, TRUE และ NT พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มช่องทางและส่งเสริมนวัตกรรมในการเข้าใช้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชนแทนการใช้เอกสารแสดงตนในการเข้าใช้บริการกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงจนถูกมิจฉาชีพนำไปใช้ในการปลอมแปลง โดยที่ระบบ “Mobile ID” นี้ ได้พัฒนาเป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA จึงมีความสะดวก ปลอดภัย และเป็นการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการสามารถสมัครใช้บริการ “Mobile ID” เบอร์มือถือ แทนบัตร แทนตัวคุณ ณ ศูนย์บริการเครือข่าย โทรศัพท์มือถือที่ใช้งานอยู่ โดยแสดงบัตรประชาชนแก่เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบความถูกต้องและถ่ายภาพใบหน้าเพื่อเปรียบเทียบพิสูจน์ตัวตนของท่าน เพียงเท่านี้ก็จะสามารถใช้บริการ “Mobile ID” ผ่านแอปพลิเคชันของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของท่าน กับธุรกรรมของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้แล้ว

โดยในระยะแรก ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป ประชาชนจะสามารถสมัครและใช้บริการ “Mobile ID” ในการเปิดบัญชีกับ “ธนาคารกรุงเทพ” โดย ลูกค้า AIS สามารถเปิดบัญชีออนไลน์ และลูกค้าจะสามารถใช้ Mobile ID ไปยืนยันตัวตนเพื่อเปิดบัญชีที่ธนาคารกรุงเทพ 9 สาขานำร่องในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักงานใหญ่ สีลม เซ็นทรัลเอ็มบาสซี เซ็นทรัลลาดพร้าว เซ็นทรัลวิลเลจ ดิเอ็มควอเทียร์ จามจุรีสแควร์ เดอะมอลล์งามวงศ์วาน เดอะคริสตัล 2 และฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต 2 และภายในเดือนธันวาคมนี้ ลูกค้าของ NT จะสามารถใช้งานได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ภายในไตรมาส 1 ปี 2565 ประชาชนจะสามารถใช้บริการ “Mobile ID” ในการยืนยันตัวตน กับ กรมการขนส่งทางบก

สำนักงานประกันสังคม กรมสรรพากร ไปรษณีย์ไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และเครดิตบูโร ต่อไป

นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความน่าเชื่อถือ สะดวก ปลอดภัย และสอดรับกับพฤติกรรมของคนในยุคดิจิทัล โดยออกมาเป็นระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ “Mobile ID”

และวันนี้สำนักงาน กสทช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมแล้วที่จะเปิดให้บริการ “Mobile ID” เบอร์มือถือ แทนบัตร แทนตัวคุณ เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมทดสอบทดลองกำรใช้งานในระยะ Sandbox โดยจะเริ่มจากการใช้ Mobile ID เพื่อเปิดบัญชีธนาคารกรุงเทพ และภายในไตรมาส 1 ปี 2565 จะสามารถให้ประชาชนร่วมทดลองใช้บริการกับหน่วยงานอื่นๆ ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้ร่วม MOU ไว้เช่นใช้บริการ “Mobile ID” เพื่อยืนยันตัวตนในการสมัครใช้บริการใบขับขี่ดิจิทัล DLT QR License ของกรมการขนส่งทางบก การยืนยันตัวตนเพื่อเข้าระบบเพื่อยื่นภาษีแบบออนไลน์ E-FILING ของกรมสรรพากร การแสดงตนเพื่อรับ-ส่งพัสดุของไปรษณีย์ไทย และการเปิดบัญชีการลงทุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

นายศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC หรือ AIS กล่าวว่า โครงการ Mobile ID ระยะทดสอบนี้ เอไอเอส ได้ร่วมมือกับ สำนักงาน กสทช. ร่วมกันพัฒนานวัตกรรม ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแบบออนไลน์เต็มรูปแบบเป็นรายแรกของประเทศ เพื่อให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์กับลูกค้าของเอไอเอส ให้มีความสะดวก ปลอดภัย คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้ครอบคลุมถึงธุรกรรมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และพร้อมที่จะส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนให้ใช้ดิจิทัลไอดีในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศอีกด้วย

ด้านนายเรวัฒน์ ตันกิตติกร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานช่องทางการขาย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC กล่าวว่า ระบบ Mobile ID นี้จะช่วยให้ลูกค้าดีแทคสามารถลงทะเบียนซิมใหม่หรือรับบริการธุรกรรมอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว และระบบ Mobile ID สามารถลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน ในกระบวนการยืนยันตัวตนได้อีกด้วย

นายนิติธรรม โกวิทกูลไกร หัวหน้าคณะผู้บริหาร (ร่วม) ด้านสินค้าและบริการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กล่าวว่า การพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วย Mobile ID จะทำให้ลูกค้าของทรู สามารถใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึงและแพร่หลายในทุกมิติอีกทั้งยังเป็นกำรส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทย

นายวงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานดิจิทัล บริษัท โทรคมนาคม แห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวว่า NT เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านโทรคมนาคมและดิจิทัลของประเทศเพื่อสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรรม จึงได้ร่วมพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วย Mobile ID เพื่อให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมต่างๆ กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น โดยหลังจากสมัครใช้บริการ Mobile ID แล้ว ลูกค้า NT สามารถใช้โทรศัพท์มือถือในการยืนยันตัวตนแทนบัตรประชาชนเพื่อเข้ารับบริการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการได้

นายกึกก้อง รักเผ่าพันธุ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพมีความยินดีที่ได้เข่ามามีส่วนร่วมในการริเริ่มพัฒนาระบบ Mobile ID ร่วมกับสำนักงาน กสทช. และภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม จนสามารถได้เริ่มเปิดใช้บริการดังกล่าวได้ที่ธนาคารกรุงเทพเป็นแห่งแรก ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะช่วยอำนวยความสะดวก และส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า ทั้งการใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่สามารถเปิดใช้งานบัญชีเงินฝากออนไลน์ได้อย่างมั่นใจ สะดวกสบาย ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ รวมถึงกรณีการใช้บริการที่สาขาของธนาคาร Mobile ID ก็ช่วยยืนยันเบอร์โทรศัพท์ได้ง่ายๆ

ที่สำคัญลูกค้ายังคงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยของการทำธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะขั้นตอนการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของลูกค้าอย่างถูกต้องก่อนทำธุรกรรมซึ่งเป็นประเด็นที่ธนาคารให้ความสำคัญอย่างมากและเป็นสิ่งที่ตอกย้ำถึงความน่าเชื่อถือในฐานะสถาบันการเงิน ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของธนาคารกรุงเทพที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบนิเวศน์ด้านดิจิทัลของประเทศไทย อันจะมีบทบาทสำคัญและสามารถต่อยอดไปสู่ความก้าวหน้าด้านบริการทางการเงินได้อีกหลากหลายมิติในอนาคต

Back to top button