ด่วน! สธ.แถลงพบ “โอไมครอน” รายแรกในไทย

ด่วน! สธ.แถลงตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย เป็นผู้ป่วยนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน แต่เดินทางจากสเปน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (6 ธ.ค.64) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงประเด็นสถานการณ์และความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอไมครอน ว่า ขณะนี้ได้มีการตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทยแล้ว โดยเป็นผู้ป่วยนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน แต่เดินทางจากสเปน

โดยเบื้องต้นเก็บตัวอย่างครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 30 พ.ย.64 พบว่าโอกาสเป็นสายพันธุ์โอไมครอนสูงมาก 99.92 % และตรวจเชื้อซ้ำเมื่อ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นค่อนข้างแน่นอนว่า เป็นสายพันธุ์โอไมครอน รายแรกของไทย แต่ยังไม่ทราบว่ามีประวัติไปแอฟริกาหรือไม่

สำหรับเทคนิคการตรวจสายพันธุ์ไวรัสก่อโรคโควิด-19 จะมี 3 วิธีทดสอบ คือ 1.RT-PCR โดยใช้น้ำยาพิเศษแต่ละสายพันธุ์โดยตรง ใช้เวลา 1-2 วัน โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศดำเนินการได้ 2. Target sequencing เป็นการดูรหัสพันธุกรรมว่าเหมือนชนิดใดใช้เวลา 3 วัน และ3.Whole genome sequencing เป็นการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ใช้เวลา 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ ขณะนี้ยังไม่มีน้ำยาเฉพาะที่จะตรวจหาสายพันธุ์ใหม่โอมอครอนด้วยวิธีRT-PCRซึ่งใช้เวลาเร็วที่สุด1-2วัน จะต้องใช้เวลาพัฒนาอีก 2 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม กรมวิทย์ฯ ได้พัฒนาเทคนิคการตรวจหาโอมิครอนให้ได้โดยเร็วในระหว่างที่ยังไม่มีน้ำยาเฉพาะ เพื่อให้ศูนย์วิทย์ทั่วประเทศสามารถตรวจสายพันธุ์โอมิครอนได้รวดเร็ว โดยจากการวิเคราะห์ พบว่า โอมิครอน มีจุดกลายพันธุ์ HV69-70deletion ที่เหมือนกับอัลฟา และจุดK417Nที่เหมือนกับเบตา กรมจึงเอาคุณสมบัตินี้มาพัฒนาเทคนิคในการตรวจสายพันธุ์โอมิครอน

โดยนำตัวอย่างที่ได้จากผู้เดินทางเข้าประเทศไทยและตรวจพบติดโควิดทุกรายมาตรวจด้วยน้ำยา2 ตัว คือ น้ำยาเฉพาะตรวจหาสายพันธุ์อัลฟา และน้ำยาเฉพาะตรวจหาสายพันธุ์เบตา หากตรวจพบจากน้ำยาของอัลฟาและเบตาทั้ง 2 น้ำยาให้รายงานเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ศูนย์วิทย์รายงานการตรวจสายพันธุ์โอมิครอนได้เร็วใน 1-2 วันในระหว่างที่ยังไม่มีน้ำยาเฉพาะตรวจโอมิครอน แทนที่จะต้องใช้วิธีดูรหัสพันธุกรรมที่ใช้เวลา 3 วันหรือถอดรหัสทั้งตัวที่ใช้เวลา 1สัปดาห์

Back to top button