ครม. เคาะปรับเกณฑ์ Soft Loan ธ.ออมสินช่วย SME-ขยายเวลาสินเชื่อสู้ภัยโควิด

ครม.ไฟเขียวปรับเกณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ของธนาคารออมสิน หวังเสริมสภาพคล่องการดำเนินธุรกิจให้ไปต่อได้  พร้อมขยายเวลาสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.65


นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ของธนาคารออมสิน หรือ โครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท (ปล่อยสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 5 แสนบาท ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ไม่ต้องมีหลักประกัน) โดยขยายกลุ่มเป้าหมายของโครงการให้ครอบคลุมธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

อย่างเช่น ผู้ผลิตรายย่อย ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก เพื่อให้ SMEs ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มเป้าหมาย SMEs ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและ Supply Chain อาทิ ร้านอาหาร ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เกสต์เฮ้าส์ และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.2565 จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค.2564

โดยที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้อนุมัติสินเชื่อโครงการดังกล่าวไปแล้ว จำนวน 4,137 ราย รวมเงินทั้งสิ้น 1,746 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลืออีกจำนวน 3,254 ล้านบาท จากวงเงินรวมทั้งโครงการ 5,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ครม.ยังมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 (กลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร) จากเดิมที่มีกำหนดระยะเวลารับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564 ออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.2565

ทั้งนี้ ธนาคารออมสินได้ดำเนินการอนุมัติสินเชื่อตามมาตรการฯ ไปแล้ว จำนวน 820,380 ราย จำนวนเงินทั้งสิ้น 8,204 ล้านบาท และยังมีวงเงิน คงเหลืออีกจำนวน 1,796 ล้านบาท วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์อนุมัติสินเชื่อตามมาตรการฯ ไปแล้ว จำนวน 28,911 ราย จำนวนเงินทั้งสิ้น 288 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลืออีก จำนวน 9,712 ล้านบาท จากวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท

ขณะนี้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเริ่มกลับมาดำเนินกิจการ/กิจกรรมตามปกติ ดังนั้น การขยายระยะเวลาคำขอรับสินเชื่อจะช่วยเสริมสภาพคล่องสำหรับการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดให้สามารถประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้

Back to top button