สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 ม.ค. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 ม.ค. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นทำนิวไฮติดต่อกันวันที่ 2 ในวันอังคาร (4 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเดินหน้าซื้อหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจ เช่นหุ้นกลุ่มสายการบินและกลุ่มอุตสาหกรรม ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารพุ่งขึ้นตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นหลังจากราคาน้ำมัน WTI พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 36,799.65 จุด เพิ่มขึ้น 214.59 จุด หรือ +0.59%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,793.54 จุด ลดลง 3.02 จุด หรือ -0.06% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,622.72 จุด ลดลง 210.08 จุด หรือ -1.33%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันอังคาร (4 ม.ค.) นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มเดินทางที่อ่อนไหวต่อเศรษฐกิจ ท่ามกลางสัญญาณบ่งชี้ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนอาจจะมีความรุนแรงน้อยกว่าที่วิตกกัน

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 494.02 จุด เพิ่มขึ้น 4.03 จุด หรือ +0.82% โดยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,317.41 จุด เพิ่มขึ้น 100.19 จุด หรือ +1.39%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 16,152.61 จุด เพิ่มขึ้น 131.88 จุด หรือ +0.82% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,505.15 จุด เพิ่มขึ้น 120.61 จุด หรือ +1.63%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันอังคาร (4 ม.ค.) ซึ่งเป็นวันแรกของการซื้อขายในปี 2565 หลังปรับตัวขึ้นในปี 2564 มากที่สุดในรอบ 5 ปี โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีแนวโน้มน้อยลงที่จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,505.15 จุด เพิ่มขึ้น 120.61 จุด หรือ +1.63% ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2563

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นใกล้แตะระดับ 77 ดอลลาร์ในวันอังคาร (4 ม.ค.) ขานรับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีมติยึดมั่นตามข้อตกลงเดิม ในการประชุมนโยบายการผลิตซึ่งจัดขึ้นเมื่อวานนี้

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 91 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ 76.99 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 1.02 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. 2564

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (4 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวัง นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนยังเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นกัน

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 14.5 ดอลลาร์ หรือ 0.81% ปิดที่ 1,814.6 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 24.6 เซนต์ หรือ 1.08% ปิดที่ 23.056 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 17.2 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 971.2 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 33.70 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 1,859.70 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (4 ม.ค.) โดยได้ปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนมี.ค. อย่างไรก็ดี ดอลลาร์แข็งค่าเพียงเล็กน้อยเนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐได้สกัดแรงบวกของดอลลาร์ในระหว่างวัน

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.06% แตะที่ 96.2007 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 116.11 เยน จากระดับ 115.29 เยน แต่ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9162 ฟรังก์ จากระดับ 0.9181 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2705 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2747 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1289 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1297 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3535 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3483 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7241 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7190 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button