KTC กำไรปี 64 โต 10% เฉียด 6 พันลบ. หลังต้นทุนการเงิน-ขาดทุนเครดิตลดลง

KTC รายงานกำไรปี 64 โต 10% เฉียด 6 พันลบ. จากปีก่อนมีกำไร 5.3 พันลบ. หลังต้นทุนการเงิน-ขาดทุนเครดิตลดลง


บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรสุทธิ ดังนี้

โดยบริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยรวม (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน) สำหรับปี 2564 อยู่ที่ 13,613 ล้านบาท ลดลง -3.9% จากปีก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 6,501 ล้านบาท ลดลง -1.7% จากปีก่อน และ 7,009 ล้านบาท ลดลง -7.2% จากปีก่อน ตามลำดับ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยลดลงเกิดจากหลายปัจจัย ทั้ง จากผลการปรับลดอัตราเพดานดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย จากการที่พอร์ตลูกหนี้ขยายตัวไม่มากนัก และจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้ปริมาณการใช้จ่ายลดลง นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้ดอกเบี้ยจากลูกหนี้ตามสัญญาเช่ามีจำนวน 104 ล้านบาท

ด้านรายได้ค่าธรรมเนียม (ไม่รวมรายได้ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน) มีจำนวน 4,294 ล้านบาท ลดลง -4.1% จากปีก่อน จากรายได้ค่าธรรมเนียม Interchange ที่ลดลง -6.1% จากปีก่อน รายได้ค่าธรรมเนียมในการ ติดตามหนี้ลดลง -21.4% จากปีก่อน และรายได้ค่าธรรมเนียมในการเบิกเงินสดล่วงหน้าลดลง -7.3% ขณะที่ค่าธรรมเนียม ส่วนลดร้านค้าเพิ่มขึ้น 0.7% จากปีก่อน

ขณะที่ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.9% จากปีก่อน สำหรับปี 2564 มีจำนวน 7,326 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้านบุคคลและค่าใช้จ่ายในการบริหารงานอื่นๆ ที่เกิดจากการรวม KTBL เข้ามา ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจากการล็อคดาวน์ประเทศในช่วงกลางปี

รวมทั้งเน้นทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายทางการตลาดของบริษัททั้งในด้านการจัดหาบัตรและด้านกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายผ่านบัตรลดลงไป

ส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น มีจำนวน 5,456 ล้านบาท ลดลง -17.4% จากปีก่อน สำหรับปี 2564 จากการที่บริษัทตัดหนี้สูญเพิ่มขึ้นทั้งจากพอร์ตสินเชื่อบุคคลและพอร์ตลูกหนี้เช่าซื้อจาก KTBL ประกอบกับการอนุมัติสินเชื่อมีความเข้มงวดมากขึ้นจากการปรับเกณฑ์การรับลูกหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับเพดานอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ลดลง และการควบคุม คุณภาพพอร์ตลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง จึงมีการตั้งสำรองลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ด้านต้นทุนทางการเงินลดลงจากจำนวนเงินที่กู้ยืมลดลงและดอกเบี้ยจ่ายลดลง ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมีจำนวนเงินกู้ยืมเหลือลดลงเป็น 54,403 ล้านบาท จากปี 2563 ที่เท่ากับ 57,439 ล้านบาท ประกอบกับการบริหารต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพของบริษัทจากการจัดหาเงินกู้ยืมใหม่ด้วยต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำลง สำหรับปี 2564 บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่ 1,416 ล้านบาท (-7.7% จากปีก่อน) และมี Cost of Fund ของบริษัทในปี 2564 อยู่ที่ 2.5% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.7%

Back to top button