3 หุ้นท็อปพิก รับ “ธปท.” เปิดทาง “แบงก์-บริษัทบริหารสินทรัพย์” ร่วมทุนตั้ง AMC

โบรกฯชู JMT-SCB-TTB “ท็อปพิก” รับอานิสงส์ "ธปท." เปิดทาง "แบงก์-บริษัทบริหารสินทรัพย์" ร่วมทุนตั้ง AMC เพื่อเป็นเครื่องมือการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (27 ม.ค. 2565) ว่า วานนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศ “หลักเกณฑ์การดำเนินงานในกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” เพื่อเป็นเครื่องมือการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีประเด็นสำคัญ คือ

1) มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคาร และ AMC รวมทั้งขอใบอนุญาต AMC ให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค. 2567

2) JV สามารถรับซื้อ หรือรับโอนเฉพาะสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่มีภูมิลาเนาในประเทศไทย หรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย และอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ โดยต้องรับซื้อในมูลค่ายุติธรรม

3) JV จะมีอายุการดำเนินงานไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันที่เริ่มดำเนินงาน

4) ธนาคารสามารถถือหุ้นใน JV มากกว่า 10% ได้

5) ธนาคารสามารถให้สินเชื่อ มากกว่า 25% ได้

โดยทางฝ่ายวิจัยมองเป็นบวกต่อกลุ่ม Finance และกลุ่มธนาคาร จากการจัดตั้งการร่วมทุน (JV) ของสถาบันการเงิน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งสำหรับ Finance ทางฝ่ายวิจัยประเมินว่าการจัดตั้ง JV จะส่งผลบวกต่อการดำเนินงานของบริษัท AMC ดังนี้

1) AMC มีทรัพย์ภายใต้การบริหารที่เพิ่มขึ้น

2) บริษัทไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนใน JV ที่สูง เนื่องจาก JV สามารถระดมทุนผ่านการกู้ยืมเงินได้

3) รับรู้รายได้จากการรับจ้าง JV ในการบริหารจัดการหนี้เสีย โดยประเมินว่ารายได้จะอิงจากมูลหนี้รับจ้าง และผลสำเร็จจากการติดตามหนี้ รวมทั้งรับรู้รายได้ส่วนแบ่งจาก JV เพิ่มขึ้น

4) เพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามหนี้ โดยคาดว่าธนาคารจะยินยอมให้ข้อมูลลูกหนี้กับ JV ทำให้ลดระยะเวลาในการติดตามลูกหนี้

อย่างไรก็ดีทางฝ่ายวิจัยประเมินว่าการจัดตั้ง JV ข้างต้นจะเป็นการปลดล็อคการจัดตั้ง JV เพื่อบริหารจัดการหนี้เสีย Secured loan และคาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนของการจัดตั้ง และผลดำเนินงานของ JV ในครึ่งปปีหลัง 2565 อิงระยะเวลาในการจัดตั้ง และแต่งตั้งคณะกรรมการ จำนวน 3-4 เดือน และระยะเวลาของใบอนุญาต AMC จำนวน 1 เดือน โดยการจัดตั้ง JV ข้างต้นจะส่งบวกต่อผู้ประกอบการ AMC เรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM, บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT และ บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO อิงขนาดพอร์ตหนี้เสีย, ความสามารถและเชี่ยวชาญในการบริหารหนี้เสีย Secured loan, และฐานเงินทุนในการเข้าลงทุน JV

โดยทางฝ่ายวิจัยยังคงในน้ำหนักการลงทุนในกลุ่ม Finance ที่ “เท่ากับตลาด” และ Top pick เป็น JMT (ซื้อ/เป้า 80.00 บาท) และจากประเด็นดังกล่าวจะเห็นการเก็งกำไรของ BAM (ถือ/เป้า 20.50 บาท) เพราะได้ประโยชน์สูงสุด สำหรับ BAM ทางฝ่ายวิจัยมีโอกาสที่จะปรับประมาณการกำไร และราคาเป้าหมายขึ้น จากการปลดล็อค JV ที่จะช่วยหนุนผลการดำเนินงานในระยะยาวของบริษัท

ส่วน Bank ทางฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็นบวกต่อประเด็นดังกล่าว จะทำให้กลุ่มธนาคารมีการทำ JV กับบริษัทในกลุ่ม AMC ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มธนาคารมี NPL ที่ลดลงได้ในระยะยาว และช่วยให้มีกำไรจากการขายได้ดีขึ้นแต่เป็น Upside ต่อกำไรของแต่ละธนาคารไม่มาก

ทั้งนี้ทางฝ่ายวิจัยคาดว่าธนาคารที่ได้ประโยชน์เรียงตามสัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่+SME+สินเชื่อบัตรเครดิตและส่วนบุคคล+สินเชื่อบ้าน จากมาก-น้อย คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP, บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO โดยทางฝ่ายวิจัยยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารเป็น “มากกว่าตลาด” เลือก SCB (ซื้อ/เป้า 150.00 บาท) และ TTB (ซื้อ/เป้า 1.80 บาท) เป็น Top pick และจากประเด็นดังกล่าวจะเห็นการเก็งกำไรของ KBANK (ซื้อ/เป้า 172.00 บาท) มากขึ้นได้เพราะได้ประโยชน์สูงสุด

Back to top button