“ดาวโจนส์” ปิดลบ 500 จุด วิตกปมขัดแย้ง “รัสเซีย-ยูเครน”

ดัชนี “ดาวโจนส์” ปิดร่วง 503.53 จุดเป็นวันที่ 2 เนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 500 จุดเป็นวันที่สองติดต่อกันในวันศุกร์ (11 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครน หลังจากที่มีความกังวลอยู่แล้วเกี่ยวกับเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐ

โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,738.06 จุด ลดลง 503.53 จุด หรือ -1.43%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,418.64 จุด ลดลง 85.44 จุด หรือ -1.90% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,791.15 จุด ลดลง 394.49 จุด หรือ -2.78%

ขณะที่ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 1%, ดัชนี S&P500 ลดลง 1.8% และ Nasdaq ร่วงลง 2.2%

สำหรับหุ้น 9 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปรับตัวลง นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ร่วงลง 3% และหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยร่วงลง 2.8% แต่หุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้น 2.8% สวนทางตลาด เนื่องจากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี

ขณะที่นักลงทุนมีความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐอยู่แล้ว และพากันเทขายหุ้นออกมามากขึ้น หลังจากสหรัฐเตือนว่า รัสเซียมีกำลังทหารเพียงพอที่จะเปิดฉากบุกโจมตียูเครน และอาจจะเริ่มขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้านี้

ด้านหุ้นอินวิเดีย คอร์ป ร่วงลง 7.3%, หุ้นแอมะซอน.คอม ร่วง 3.6%, หุ้นแอปเปิลและหุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลงมากกว่า 2%

ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ฟิลาเดลเฟีย ดิ่งลง 4.38%

ด้านตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงต่อเนื่องจากวันพฤหัสบดี โดยถูกกดดันจากข้อมูลเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น 7.5% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นรายปีมากที่สุดในรอบ 40 ปี

นอกจากนี้ ความเห็นจากนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ได้ส่งสัญญาณสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 1% ภายในเดือนก.ค.นี้ ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วย

โดยบรรดาเทรดเดอร์ปรับตัวรับโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในเดือนมี.ค. และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วง 1.75-2% ภายในสิ้นปีนี้

ขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่เปิดเผยในวันศุกร์ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 61.7 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2554 จากระดับ 67.2 ในเดือนม.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 67.5

ด้านดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ดีดตัวขึ้นเป็นวันที่สองติดต่อกัน และแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่สิ้นเดือนม.ค.

โดยการเตือนเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนถ่วงหุ้นรายตัวลงด้วย โดยหุ้นอาร์เมอร์ อิงค์ ร่วง 12.5% หลังเตือนว่าผลกำไรของบริษัทจะเผชิญแรงกดดันในไตรมาสปัจจุบัน

X
Back to top button