WTI พุ่ง 4% เหนือ 124 เหรียญ หลังสหรัฐจ่อแบนน้ำมันรัสเซีย

ราคาน้ำมัน WTI พุ่งเหนือ 124 เหรียญ ส่วน “เบรนท์” ใกล้แตะ 130 เหรียญ หลังสหรัฐเตรียมออกมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันและLNG จากรัสเซียภายในวันนี้ ตอบโต้ที่รัสเซียส่งกำลังทหารโจมตียูเครน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัญญาล่วงหน้า WTI ดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 124 ดอลลาร์ในวันนี้ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ใกล้แตะระดับ 130 ดอลลาร์ หลังมีข่าวว่า สหรัฐเตรียมคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียในวันนี้

โดย ณ เวลา 20.43 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนเม.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX พุ่งขึ้น 5.18 ดอลลาร์ หรือ 4.33% สู่ระดับ 124.58 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ พุ่งขึ้น 5.99 ดอลลาร์ หรือ 4.86% สู่ระดับ 129.20 ดอลลาร์/บาร์เรล

ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สหรัฐเตรียมออกมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากรัสเซียภายในวันนี้ เพื่อตอบโต้ต่อการที่รัสเซียส่งกำลังทหารโจมตียูเครน

ทั้งนี้ รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน พร้อมที่จะออกมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว แม้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาติพันธมิตรในยุโรป

ส่วน ปธน.ไบเดน มีกำหนดแถลงข่าวจากทำเนียบขาวในวันนี้เวลา 10.45 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 22.45 น.ตามเวลาไทย โดยคาดว่าจะมีการประกาศมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันต่อรัสเซีย

ด้านเจ้าหน้าที่รายหนึ่งกล่าวว่า สหรัฐพร้อมที่จะดำเนินการโดยลำพัง หากยุโรปไม่ต้องการเข้าร่วมการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย

โดยก่อนหน้านี้ เยอรมนีได้เคยแสดงท่าทีคัดค้านแผนการห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในตลาด โดยส่งออกน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันราว 7 ล้านบาร์เรล/วัน

ด้าน นายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย เตือนว่า ราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นเหนือระดับ 300 ดอลลาร์/บาร์เรล หากมีการระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย

“การปฏิเสธน้ำมันจากรัสเซียจะนำไปสู่หายนะสำหรับตลาดโลก ผลที่ตามมาก็คือราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นสู่ระดับที่เหนือความคาดหมาย โดยอาจพุ่งขึ้นทะลุระดับ 300 ดอลลาร์/บาร์เรล” นายโนวัค กล่าว

ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ในวันนี้ ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 800,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว

Back to top button