กรมวิทย์ฯ ยันโอมิครอน “BA.2” ไม่หลบภูมิวัคซีน-ต้องฉีดเข็มกระตุ้น

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดผลการศึกษาภูมิคุ้มกันวัคซีนโควิดสูตรต่างๆ สามารถสู้เชื้อโอมิครอน “BA.2” ได้ไม่หลบภูมิวัคซีนอย่างที่หลายคนกังวล สอดคล้องกับผลการศึกษาทั่วโลก แต่ทั้งนี้ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเพิ่มจำนวนภูมิคุ้มกันในร่างกาย


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยข้อมูลเรื่องภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ย่อย BA.2 ว่า ขณะนี้โรคโควิด-19 ของไทยเป็นสายพันธุโอมิครอนทั้งหมด ซึ่งจากการเฝ้าระวังระหว่างวันที่ 2-8 เมษายน 2565 พบว่า เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 แล้ว 95.9% เหลือ BA.1 เพียง 4% คาดว่าประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็จะเป็น BA.2 เกือบ 100% เนื่องจาก BA.2 แพร่ได้รวดเร็วกว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย ฉีดครบ 2 เข็มแล้วกว่า 70% แต่เข็มกระตุ้นยังมีเพียงครึ่งเดียวของเข็ม 2 คือ 35-36% ทั้งนี้ หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ติดตามตรวจภูมิคุ้มกันประชาชนว่า ขึ้นมากน้อยแค่ไหน และมีผลต่อแต่ละสายพันธุ์อย่างไรเพราะอาจมีผลแตกต่างกัน

สำหรับการตรวจระดับภูมิคุ้มใช้วิธีมาตรฐานโลก คือ วิธี Plaque Reduction Neutralization (PRNT) โดยนำเลือดที่มีภูมิคุ้มกันของผู้รับวัคซีนโควิด 19 มาแล้ว 2 สัปดาห์ มาสู้กับไวรัส BA.2 ที่เพาะเลี้ยงไว้ โดยจะเจือจางซีรัมลงเป็นเท่าตัวไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ฆ่าไวรัสได้ครึ่งหนึ่ง (PRNT50) ถึงหยุด ซึ่งต้องดำเนินการในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 (BSL 3) ไม่สามารถทำได้ในแล็บทั่วไป ขณะนี้มีเพียงกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพียงแห่งเดียว ใช้เวลา 7-8 วันจึงได้ผล

ทั้งนี้ได้ดำเนินการตรวจภูมิคุ้มกันในสูตรวัคซีน 2 เข็ม ได้แก่ ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า, แอสตร้าฯ 2 เข็ม, ไฟเซอร์ 2 เข็ม, ซิโนแวค-ไฟเซอร์ และ แอสตร้าฯ -ไฟเซอร์  ส่วนวัคซีนสูตร 3 เข็ม ได้แก่ ซิโนแวค-ซิโนแวค-แอสตร้าฯ, ซิโนแวค-ซิโนแวค-ไฟเซอร์, แอสตร้าฯ-แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์, ซิโนแวค-แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ และซิโนแวค-แอสตร้าฯ-แอสตร้าฯ

สำหรับผลการตรวจคือไม่ว่าวัคซีนสูตรไหน ระดับภูมิคุ้มกันต่อการลบล้างฤทธิ์ไวรัสโอมิครอน BA.2 มากกว่า BA.1 แสดงว่าภูมิคุ้มกันจัดการเชื้อ BA.2 ได้มากกว่า BA.1 สอดคล้องกับการศึกษาทั่วโลก จึงมีข้อสรุปเบื้องต้นว่า ข้อกังวลที่ว่า BA.2 จะหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้มากกว่า ก็ไม่น่าจะจริง แต่การฉีดวัคซีน 2 เข็ม ถึงจะจัดการ BA.2 ได้มากกว่าก็จริง แต่ระดับภูมิคุ้มกันไม่ได้สูงมากนัก แม้จะอยู่ในช่วงของ 2 สัปดาห์ที่ภูมิคุ้มกันขึ้นสูง ดังนั้น ถ้าฉีดเข็ม 2 มาแล้วหลายเดือน ภูมิคุ้มกันก็จะตกลงเรื่อยๆ ส่วนการฉีด 3 เข็ม พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นไปสูงมากพอสมควร จึงเป็นเหตุผลสนับสนุน ขอให้ประชาชนมากระตุ้นด้วยเข็ม 3

นพ.ศุภกิจ จึงสรุปว่า ภูมิคุ้มกันวัคซีนต่อเชื้อโควิดโอมิครอน BA.2 ดีกว่า BA.1 จึงอย่าวิตกกังวล แม้สายพันธุ์ย่อย BA.2 จะแพร่เต็มประเทศแล้วจะทำให้ภูมิคุ้มกันที่ฉีดแย่ลง แต่จากข้อมูลขอย้ำว่า คนฉีดวัคซีน 2 เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มเชื้อตาย หรือไวรัลเวคเตอร์ เกินเดือนไปแล้ว ภูมิต่อ BA.2 ลดลงมากพอสมควร จึงควรมากระตุ้นหากฉีดนานไปแล้ว จึงเสนอเป็นข้อมูลคณะกรรมการโรคติดต่อพิจารณาว่า อาจมีเงื่อนไขการฉีดเข็มกระตุ้นยืดหยุ่นเป็น 1-3 เดือนหรือไม่ เช่น หากต้องการให้เกิดภูมิเร็วขึ้น เพื่อสู้กับสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง ก็อาจย่นเวลาลงมาได้

สอดคล้องกับ นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลการศึกษาของสหรัฐอเมริกา อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ และอาร์เจนตินา ที่รอการตีพิมพ์ เปิดเผยข้อมูลวัคซีน 2 เข็มและ 3 เข็ม ถึงภูมิคุ้มกันที่มีต่อโอมิครอน BA.1 และ BA.2 พบว่า กรณี 2 เข็มภูมิต่อโอมิครอนมีไม่มากนัก แต่ภูมิที่ผลต่อ BA.2 ยังสูงกว่า BA.1 แต่กรณีบูสเตอร์ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเดียวกันหรือต่างชนิด ภูมิต่อโอมิครอนสูงกว่า 2 เข็ม และภูมิต่อ BA.2 สูงกว่า BA.1 ทุกชนิดวัคซีน สอดคล้องกับการศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แสดงว่าโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 มีความสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ต่างกัน

ขณะที่ ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่า นอกจากการหลบภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันระหว่าง BA.1 และ BA.2 แล้วยังพบว่า การเพิ่มจำนวนในหลอดทดลองของ BA.2 เร็วกว่า BA.1 ซึ่งอนุภาคไวรัสของ BA.2 ใหญ่กว่า BA.1 อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การแพร่กระจายของ BA.2 เร็วกว่า BA.1

Back to top button