นายกฯ แตะเบรกเซ็น “วงษ์สยาม” บริหารท่อส่งน้ำ หลังฝ่ายค้านเตรียมอภิปราย

นายกรัฐมนตรี สั่งตรวจสอบโครงการท่อส่งน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ EEC หลังสังคมยังเกิดความสงสัยกับการจัดประกวดราคาที่ บริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด ชนะการประมูล ขณะที่ นายสันติ พร้อมพัฒน์ ยืนยันการคัดเลือกเอกชนมีความโปร่งใส และรัฐได้ประโยชน์มากกว่าคู่สัญญารายเดิมหลายเท่า


นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงกรณีนายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เตรียมจะนำประเด็นการประมูลโครงการท่อส่งน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC มาร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจกับฝ่ายค้าน ว่า คงไม่มีอะไร กรมธนารักษ์ ได้ทำทุกอย่างตามขั้นตอนแล้ว การให้ข้อมูลที่ไม่ใช่ความจริง ถ้าพูดแบบส่วนตัวก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการไป พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW เพราะการประปาส่วนภูมิภาค ถือหุ้นอยู่ 40%

ดังนั้น จึงเป็นบริษัทเอกชน ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ จึงไม่สามารถไปเอื้ออะไรได้ การแข่งขันราคาก็เห็นโดยชัดเจน ว่า บริษัทที่แพ้ประมูลได้ให้ประโยชน์กับรัฐในระยะเวลา 30 ปี ประมาณ 24,000 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่ชนะประมูล ให้ผลประโยชน์กับรัฐ 25,600 ล้านบาท จากนี้จะดำเนินการอย่างไรก็เป็นสิทธิที่จะทำตามขั้นตอนของกฎหมาย

ส่วนกรณีที่กรมธนารักษ์เลื่อนการเซ็นสัญญาในวันนี้ (3 พ.ค.2565) ออกไป เกี่ยวข้องกับการนำเรื่องดังกล่าวมาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองหรือไม่นั้น นายสันติ ระบุว่า เมื่อกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เห็นกระแสความไม่เข้าใจ ก็คงไปตรวจสอบดูอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพราะตลอด 30ปีที่ผ่านมา บริษัทที่ได้รับสัมปทาน จ่ายผลประโยชน์ให้กับรัฐเพียง 552 ล้านบาท

ทั้งนี้เมื่อกรมธนารักษ์เปิดประมูลใหม่ บริษัทที่แข่งขันให้ผลประโยชน์กับรัฐ 25,000 ล้านบาท แตกต่างกันมากกว่ากี่เท่า ซึ่งต้องถามบริษัทที่แพ้ประมูลว่า ในอดีต 30 ปีที่ผ่านมาเงินเหล่านี้ไปไหน ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่ต้องไปตรวจสอบ

นอกจากนี้เมื่อถามว่านายพิเชษฐ เป็น ส.ส.พปชร. แต่กลับมาตรวจสอบเลขาธิการพรรค นายสันติ ระบุว่า นายพิเชษฐ เพิ่งมาอยู่ใหม่ การที่มาระบุว่าเป็นหัวหน้ากลุ่ม 16 ทั้งที่ในพปชร.ไม่มีกลุ่ม จึงไม่อยากไปวิจารณ์ต่อข้อถามว่า จะมีบทลงโทษอย่างไรหรือไม่ เพราะอาจจะทำให้พรรคเสื่อมเสีย เรื่องนี้อยู่ที่กรรมการบริหารพรรค ยังไม่รู้จะนำเข้าที่ประชุมเมื่อใด

อีกทั้งเมื่อถามว่า มีความพร้อมในการชี้แจงประเด็นนี้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างไร นายสันติ เปิดเผยว่า ตนพร้อมอยู่แล้ว แต่ในเมื่อมีข้อทักท้วง 2-3ประเด็น ที่ปรากฎ ในฐานะรัฐจะต้องนำข้อมูลเหล่านั้นมาตรวจสอบดูว่า สิ่งที่ได้ดำเนินการไป การแข่งขันต่างๆ ตรงไปตรงว่าหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีที่บริษัท อีสวอเตอร์ ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ขอให้คุ้มครองถึง 3 ครั้ง และศาลปกครองก็ยกคำร้องทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า การที่กรมธนารักษ์ยกเลิกการประมูลในครั้งแรกทำถูกต้องแล้วตามสิทธิและหน้าที่ข้อมูลเหล่านี้คณะกรรมการได้รายงานตนแล้ว

ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในประเด็นดังกล่าวว่า ได้สั่งการ ให้กระทรวงการคลังตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยเร็วในทุกขั้นตอน

ส่วนเรื่องดังกล่าวเกิดความเสียหายแก่ภาครัฐและฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย นายธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีระบุว่าทราบดีอยู่แล้ว กำลังหาข้อเท็จจริงว่าใครได้ใครเสียด้วยความเป็นธรรม ส่วนกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังขอเลื่อนลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กับบริษัทวงศ์สยามก่อสร้าง จำกัด ออกไปก่อนโดยยัง ไม่ได้กำหนดวันและเวลานั้น นายกรัฐมนตรีระบุว่า รอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้ประกาศเลื่อนการลงนามกับ บริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด หลังสังคมยังมีข้อสงสัยต่อการคัดเลือกบริษัทเข้ามาบริหารท่อส่งน้ำที่อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ และยังมีข้อพิพาทในศาลปกครองที่บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW ไปยื่นฟ้อง พร้อมชี้แจงว่า การดำเนินการของกรมธนารักษ์ในเรื่องนี้ เป็นไปตามขั้นตอนถูกต้องครบถ้วน โดยยึดหลัก 3 อย่าง คือ การดำเนินการตามกฎหมายกำหนด การดำเนินการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐ และการดำเนินการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ใช้น้ำ

สำหรับการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายนั้น การคัดเลือกเอกชนด้วยการประกวดราคาในครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติ ( พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งน่าจะทำให้มีความเข้าใจที่คาดเคลื่อน เพราะการดำเนินการของกรมธนารักษ์ เป็นไปตาม พระราชบัญญัติ ( พ.ร.บ.) ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 และกฎกระทรวงการคลัง เพื่อจัดหาเอกชนเข้ามาบริหารจัดการผลประโยชน์ของภาครัฐ จึงไม่สามารถใช้การประกวดราคา หรือ e-bidding นำไปสู่การจัดทำรายงานผลการศึกษา โดยให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการจัดทำรายงาน ซึ่งผลการศึกษามีความชัดเจนว่าให้ใช้วิธีการคัดเลือก โดยการเชิญผู้ประกอบการที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องระบบท่อส่งน้ำเข้ามาร่วมคัดเลือก จากนั้นจึงนำไปสู่การพิจารณาของ คณะกรรมการที่ราชพัสดุ พร้อมตั้งคณะกรรมการคัดเลือกขึ้นมาตามขั้นตอนทุกอย่าง จนกระทั่งได้ตัวผู้ประกอบการดำเนินการคัดเลือก

โดยทันทีที่กรมธนารักษ์ ลงนามกับ บริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประกวดราคา มาลงนามโครงการบริหารและดำเนินกิจการท่องส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (EEC) วันนี้ (3 พ.ค. 65) ทางบริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด ต้องจ่ายเงินให้กรมธนารักษ์ทันที 743.62 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินค้ำประกันสัญญา 118.97 ล้านบาท ค่าแรกเข้าวันลงนามสัญญา 580 ล้านบาท และผลประโยชน์ตอบแทนรายปี 44.64 ล้านบาท และในวันรับมอบท่อส่งน้ำ บริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด ต้องจ่ายเงินให้กับกรมธนารักษ์อีก 870 ล้านบาท และเมื่อบริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด เข้ามาบริหารท่อส่งน้ำแล้ว ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้รายปีให้กับกรมธนารักษ์ในอัตรา 27% ของรายได้จากการขายน้ำดิบ ตลอดอายุสัญญา 30 ปี

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการบริหารและดำเนินกิจการท่องส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (EEC) เป็นหนึ่งประเด็นที่พรรคเพื่อไทย เตรียมใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่ารัฐบาลมีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทที่เข้าประกวดราคา โดยเฉพาะขั้นตอนการดำเนินการที่ต้องมีการจัดประกวดราคาถึง 2 ครั้งด้วยกัน

Back to top button