ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์โฆษณา กลุ่มธุรกิจ “สินทรัพย์ดิจิทัล”

บอร์ด “ก.ล.ต.” เคาะปรับปรุงหลักเกณฑ์การโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการปรับลดระยะเวลาการพิจารณาเห็นชอบโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจ ก่อนเผยแพร่โฆษณาสู่สาธารณะเป็น 10 วัน และขยายระยะเวลาบทเฉพาะกาลให้ผู้ประกอบธุรกิจปรับปรุงแก้ไขโฆษณาที่มีอยู่เดิมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ใหม่เป็น 30 วัน


นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 เกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ทั้งนี้ตามที่ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขหลักเกณฑ์การโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ผู้ประกอบธุรกิจ) ไปเมื่อช่วงเดือนก.พ.-มี.ค. 2565 และได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจมาพิจารณาประกอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์แล้วนั้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดย

1.ปรับลดระยะเวลาการพิจารณาเห็นชอบโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจ ก่อนเผยแพร่โฆษณาสู่สาธารณะ จากเดิม 15 วัน เป็น 10 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาในการวางแผนและจัดทำโฆษณาสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ ที่ต้องตอบสนองต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างรวดเร็ว และไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ

2.ขยายระยะเวลาบทเฉพาะกาลให้ผู้ประกอบธุรกิจปรับปรุงแก้ไขโฆษณาที่มีอยู่เดิมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ใหม่ จากเดิม 15 วัน เป็น 30 วันนับจากวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีระยะเวลา ที่เหมาะสมในการเตรียมการและปรับปรุงเนื้อหาโฆษณาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และไม่เป็นภาระต่อ ผู้ประกอบธุรกิจมากเกินไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติให้เพิ่มเรื่องให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้ง ก.ล.ต. เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการจัดทำโฆษณา เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. รวมทั้งเน้นย้ำเรื่องการห้ามโฆษณาคริปโทเคอร์เรนซีในพื้นที่สาธารณะ โดยให้โฆษณาเฉพาะในช่องทางทางการของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการส่งเสริมให้ผู้ลงทุน มีการซื้อขายในลักษณะเร่งการตัดสินใจ (Impulsive buying)

สำหรับหลักเกณฑ์การโฆษณาอื่นเป็นไปตามหลักการเดิม เช่น

1.ต้องไม่เป็นเท็จ ไม่เกินความจริง ไม่บิดเบือน ไม่ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ

2.ต้องระบุคำเตือนเรื่องความเสี่ยงตามที่ ก.ล.ต. กำหนดอย่างชัดเจนและสังเกตได้ง่าย

3.ห้ามโฆษณาเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีในพื้นที่สาธารณะ ขณะที่การโฆษณาเกี่ยวกับการให้บริการยังคงสามารถทำได้ในพื้นที่สาธารณะและช่องทางอื่นๆ

4.ต้องควบคุมดูแลการโฆษณาของบริษัท บริษัทในกลุ่ม ที่อยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจการ รวมถึงผู้ทำโฆษณาและผู้ที่มีผลต่อ การตัดสินใจต่อผู้ใช้บริการในสังคมออนไลน์ (Influencer) ให้เป็นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

5.ยกเลิกการจัดให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ความคุ้มครอง ผู้ซื้อขายและเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ โดยทางก.ล.ต. จะจัดทำร่างประกาศตามหลักการข้างต้นและดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำออกใช้บังคับโดยเร็วต่อไป

Back to top button