“กกร.” คงประมาณการ GDP 2.5-4% หลังท่องเที่ยวหนุน ศก.ครึ่งปีหลัง

"กกร.” ประมาณการเศรษฐกิจไทยกรอบเดิม คาด GDP โต 2.5-4% แม้ไทยเจอปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนในช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมแนะทบทวนการไม่ใช้บทลงโทษตามกฎหมาย PDPA จนกว่าจะออกกฎหมายลำดับรองครบ


นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประจำเดือนมิถุนายน 2565  เปิดเผยว่า กกร.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ในกรอบเดิมที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP จะเติบโต 2.5-4% ส่งออก 3-5% และอัตราเงินเฟ้อ 3.5-5.5% แม้ยังเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง รวมทั้งต้นทุนและเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่การท่องเที่ยวและการส่งออกที่ยังขยายตัวจะเป็นแรงส่งเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี แม้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจะฉุดรั้งกำลังซื้อ และการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดยการเปิดประเทศเมื่อ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นชัดเจน ซึ่งคาดว่าเป้าหมายนักท่องเที่ยวปีนี้ที่ตั้งไว้ 6-8 ล้านคน น่าจะเป็นไปได้ และคนไทยเองก็เดินทางมากขึ้น และยังได้อานิสงส์จากการขยายสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันเพิ่มเติมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าส่งออกจะเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเผชิญกับผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ความกังวลเกี่ยวกับอาหารขาดแคลนราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง การขาดแคลนสินค้าสำคัญใน supply chain ภาคอุตสาหกรรม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของหลายธนาคารกลาง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่จีดีพีอาจจะขยายตัวเพียง 4.5% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ 5.5%เป็นปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงและอาจจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี โดยมีสัญญาณเตือนจากตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่นในเดือนเมษายน 2565 ที่หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ภาพรวมการส่งออกเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตัวเลขการส่งออกยังเติบโตได้อยู่ในระดับ 9.9%

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส ส.อ.ท. ระบุถึงประเด็น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ที่มีผลบังคับใช้ในวันนี้ (1 มิ.ย. 2565) ว่า จะเป็นเรื่องที่ดีและสร้างมาตรฐานให้กับการทำธุรกิจ แม้ว่ากฎหมาย PDPA ได้มีการประกาศออกมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่หลายฝ่ายยังคงกังวลในแนวปฏิบัติของกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน และมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกลงโทษ ตามบทลงโทษที่รุนแรงตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันกฎหมายลำดับรองกว่า 20 ฉบับยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กกร. จึงได้เสนอให้ภาครัฐ พิจารณาทบทวนการไม่ใช้บทลงโทษจนกว่าจะออกกฎหมายลำดับรองที่จำเป็นครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนในการปรับปรุงระบบที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ภาครัฐควรเน้นการประชาสัมพันธ์ สร้างให้ความรู้ความเข้าใจให้ภาคเอกชนและประชาชนในการศึกษาเตรียมตัวในระยะเวลาที่เพียงพอเหมาะสม ซึ่งจะช่วยทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมย์และเป็นประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ

Back to top button