เอาจริง! บช.น.เตรียมใช้ยาแรงคนค้าง “ใบสั่ง” ไม่จ่ายออกหมายจับแน่

ตำรวจนครบาล เตรียมใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ขับขี่รถที่โดยไม่สั่งแล้วไม่ยอมจ่ายค่าปรับ หลังพบผู้กระทำความผิดจำนวนมาก สูงสุด 1 คนค้างใบสั่ง 59 ใบ หากใครฝ่าฝืนอีกถูกออกหมายจับแน่นอน


พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล  หรือ บช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. เปิดเผยว่า ตำรวจนครบาลได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้กระทำความผิดกฎจราจร และไม่มาชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากที่ผ่านมาพบมีจำนวนมาก และมีพฤติการณ์ทำผิดซ้ำๆ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและปัญหาจราจร จึงกำหนดมาตรการบังคับใช้กฎหมาย

โดยการออกใบสั่งจะเป็นหน้าที่ของพนักงานจราจรออกใบสั่งให้ผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ทั้งแบบซึ่งหน้าและตรวจจับด้วยกล้องระยะเวลาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด  เมื่อผู้กระทำความผิดไม่มาชำระค่าปรับตามกำหนดระยะเวลา จะมีการออกใบเตือน จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายใน 15 วัน และต้องชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันรับแจ้ง

หากพ้นระยะในใบเตือนแล้วยังไม่มาชำระค่าปรับ นอกจากส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อดำเนินมาตรการงดออกเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีแล้ว พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกให้มาชำระค่าปรับ หากไม่มาพบตามหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขออนุมัติศาลในเขตพื้นที่เพื่อออก “หมายจับ”

กรณีถูกออกหมายเรียก หรือหมายจับ จะถูกแจ้งข้อหาตามใบสั่ง และแจ้งความผิดข้อหาตามมาตรา 155 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ม.141 (ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนดในใบสั่ง) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ในขั้นตอนนี้ผู้ต้องหาต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองที่สถานีตำรวจที่ออกหมายเรียก หมายจับ ไม่สามารถชำระผ่านช่องทางอื่นๆได้

ผลกรณีถูกออกหมายจับในคดีอาญาจะถูกบันทึกในฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตามหมายจับ, หากบุคคลที่มีหมายจับเดินทางออกนอกประเทศจะถูกจับ และเกิดความยากลำบาก, ถูกบันทึกในทะเบียนประวัติซึ่งอาจส่งผลต่อการประกอบอาชีพการทำงาน กรณีหน่วยงานสอบถามประวัติคดีอาญา และเกิดความยากลำบากและความน่าเชื่อถือในการทำนิติกรรม

ทั้งนี้ เมื่อผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองหรือถูกจับกุม และยินยอมเปรียบเทียบปรับให้คดีอาญาเลิกกัน ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยว่ามีใบสั่งค้างชำระหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ผ่านช่องทางใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน https://ptm.police.go.th/eTicket/#/

มาตรการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา และจะทำการตรวจสอบใบสั่งไม่ตรวจอายุความ เน้นบุคคลกระทำความผิดซ้ำๆ บ่อยครั้งก่อน สำหรับคนที่จ่ายค่าปรับแล้วจะถูกถอนประวัติการดำเนินคดีหรือไม่นั้น การดำเนินการมีการแจ้งให้ชำระภายใน 7 วัน ตรวจสอบอีก 30 วัน กรณีไม่จ่ายค่าปรับจะยังไม่ถูกออกหมายจับ กรณีการออกใบเตือนภายใน 15 วัน ครั้งที่ 1 แต่หากยังไม่มาจ่ายค่าปรับจะแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี หากออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ไม่มาจ่าย ทางพนักงานสอบสวนจะขออนุมัติศาลออกหมายจับกรณีดังกล่าว แต่ถ้าหลังจากจ่ายค่าปรับแล้วก็จะทำเรื่องถอนหมายจับดังกล่าวออกจากระบบ

ส่วนใบสั่งที่หมดอายุความแล้วจะไม่ถูกดำเนินการดังกล่าว ที่ผ่านมาภายในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่ายอดสูงสุดของคนที่ไม่จ่ายมากที่สุดคือ 59 ใบ และขณะนั้นยังไม่ได้ตรวจสอบทุกพื้นที่ จึงเชิญเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่ามีพื้นที่อื่นๆ อีกหรือไม่ เพื่อดำเนินการมาตรการดังกล่าวต่อไป

 

Back to top button