สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 27 มิ.ย. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 27 มิ.ย. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (27 มิ.ย.) โดยตลาดถูกกดดันจากแรงขายหุ้นเติบโต (Growth Stocks) ซึ่งเป็นหุ้นที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1 ของสหรัฐในวันพรุ่งนี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,438.26 จุด ลดลง 62.42 จุด หรือ -0.20%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,900.11 จุด ลดลง 11.63 จุด หรือ -0.30% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,524.55 จุด ลดลง 83.07 จุด หรือ -0.72%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันจันทร์ (27 มิ.ย.) แตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ที่ปรับตัวขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในจีน ได้ช่วยหนุนบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นทั่วโลก

ทั้งนี้ ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 415.09 จุด เพิ่มขึ้น 2.16 จุด หรือ +0.52%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,047.31 จุด ลดลง 26.04 จุด หรือ -0.43%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,186.07 จุด ลดลง 67.94 จุด หรือ -0.52% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,258.32 จุด เพิ่มขึ้น 49.51 จุด หรือ +0.69%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นในวันจันทร์ (27 มิ.ย.) แตะระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 1 สัปดาห์ โดยได้แรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในจีน และแนวโน้มการลงทุนด้านสาธารณูปโภคทั่วโลกได้ช่วยหนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งได้ช่วยหนุนหุ้นกลุ่มน้ำมันและเหมืองแร่ปรับตัวขึ้น

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,258.32 จุด เพิ่มขึ้น 49.51 จุด หรือ +0.69%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (27 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า อุปทานน้ำมันในตลาดโลกจะเผชิญกับภาวะตึงตัวมากขึ้นหลังจากกลุ่มประเทศ G7 ยืนยันว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียในระดับที่รุนแรงขึ้น เพื่อสกัดแหล่งรายได้ในการทำสงครามของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 1.95 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 109.57 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 1.97 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 115.09 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (27 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดทองคำ

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 5.5 ดอลลาร์ หรือ 0.3% ปิดที่ 1,824.8 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 4.30 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 21.168 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 40 เซนต์ หรือ 0.04% ปิดที่ 904.1 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 4.60 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 1,858.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (27 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.24% แตะที่ระดับ 103.9390

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9563 ฟรังก์ จากระดับ 0.9589 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2879 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2919 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 135.44 เยน จากระดับ 135.23 เยน

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0586 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0551 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2277 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2269 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6923 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6939 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button