สมช.ตั้งกรรมการ 2 ชุดแก้วิกฤต “พลังงาน-อาหาร” จับมือกัมพูชาสำรวจก๊าซธรรมชาติ

ที่ประชุม สมช.ตั้งกรรมการ 2 ชุดแก้วิกฤตพลังงาน เคาะแผน 3 ระยะ 3 เดือน - 1 ปี  พร้อมเตรียมคุยกัมพูชาทำพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทางทะเลสร้างความร่วมมือทางพลังงาน-เศรษฐกิจ


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่การกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ที่ใช้เวลาในการประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุมในครั้งนี้ได้พิจารณาแผนรับมือวิกฤติพลังงานและอาหารที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยแผนรองรับจัดทำครอบคลุมใน 3 ระยะคือระยะสั้นในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ก.ค. – ก.ย. ระยะ 6 เดือน และ 1 ปี เพื่อเตรียมการรองรับไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทยในระยะต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของการกระทบกับเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของประชาชน

ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 ชุด เพื่อรับมือกับสถานการณ์ ได้แก่ คณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยจะทำหน้าที่คล้ายๆกับคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มีการนำเอาหน่วยงานเศรษฐกิจเข้ามาประชุมหารือร่วมกัน และชุดที่สอง คณะกรรมการเฉพาะกิจติดตามประมวลผลวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาทุกมิติ และจัดทำแผนรองรับทุกด้านตามวิกฤติการณ์ในอนาคตด้วย โดยมีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง อาจเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยคณะกรรมการทั้งสองชุดจะเข้าสู่การประชุม ครม.ในวันพรุ่งนี้

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในการพิจารณาแผนระยะสั้นในระยะ 3 เดือนได้พิจารณาถึงการต่อมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ดำเนินการอยู่ระหว่างเดือนก.ค.-ก.ย.2565 โดยจะพิจารณาต่อไปจนถึงเดือน ธ.ค. 2565 และต้องพิจารณาด้วยว่าจะต้องเพิ่มเติมมาตรการใดอีกบ้าง หรือว่าอะไรที่จะยุติลงรวมทั้งต้องพิจารณารวมไปด้วยว่ารัฐบาลจะใช้เงินจากไหนมาดำเนินการ หากมีการกู้เงินมากขึ้นอีก ก็จะต้องระวังเรื่องการก่อหนี้สาธารณะและเป็นภาระทางการคลังในอนาคตด้วย

โดยต้องดูว่ามาตรการ 3 เดือนจะต่อมาตรการอะไรให้ได้มากแค่ไหน ที่จะให้ถึงเดือนธ.ค.จะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมอีก ยืนยันดูแลให้เต็มที่ เท่าที่จะมากได้ ตอนนี้หลายประเทศมีปัญหามากกว่าเรา ทุกรัฐบาลก็แก้ไขปัญหากันอยู่ และระยะต่อไป

“หากเศรษฐกิจดีขึ้น สถานการณ์ท่องเที่ยวดีขึ้น จะดูแลต่ออย่างไร ต้องมีการจำกัดการช่วยเหลือหรือไม่ ฉะนั้นหากช่วง 6 เดือนสถานการณ์ดีขึ้นก็ลดมาตรการช่วยเหลือลง สิ่งสำคัญวันนี้ขอให้ช่วยกันประหยัดพลังงานและใช้เท่าที่จำเป็น ผมขอร้อง ผมเองก็ใช้เท่าที่จำเป็น ผมอยู่ในฐานะผู้บริหารก็ไม่สบายใจและพยายามทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องการจัดหาพลังงานเพิ่มเติมทั้งจากในประเทศและการหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะในอนาคตการนำเข้าพลังงานจากพื้นที่ห่างไกลอาจทำได้ยากจากความขัดแย้งที่มีอยู่ โดยในประเทศไทยได้สั่งการให้จัดหาแหล่งพลังงานเพิ่มในพื้นที่อ่าวไทย รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ทั้งทางบกและทะเล รวมทั้งให้หารือกับต่างประเทศเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความมั่นคงของประเทศและของภูมิภาคอาเซียนด้วย

ส่วนในเรื่องของความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเราก็มีแนวทางที่เคยจัดทำการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันในรูปแบบ JDA ก็อาจหารือกับประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม โดยนายกรัฐมนตรี  ไม่ปฏิเวธว่าความร่วมมือดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับกัมพูชา ในพื้นที่ขอพิพาท ซึ่งจะมีการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจร่วมกัน โดยอาจจะเป็นการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทางทะเล ซึ่งจะได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งทางพลังงานและทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องมีการหารือเรื่องนี้กันต่อไป ส่วนจะทำหรือไม่ต้องดูในเรื่องของความจำเป็นในวันนี้ด้วย

Back to top button