“ดาวโจนส์” บวกต่อเกือบ 200 จุด ขานรับกำไร “โกลด์แมน แซคส์” แกร่ง

“ดาวโจนส์” บวกต่อเกือบ 200 จุด ขานรับกำไร "โกลด์แมน แซคส์" แกร่ง-คาดเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรง โดย ณ เวลา 22:36 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 31,424.00 จุด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์พุ่งกว่า 300 จุดในวันนี้(18 ก.ค.65) ขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่งของโกลด์แมน แซคส์ นอกจากนี้ตลาดยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนไม่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 1.00% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนนี้

โดย ณ เวลา 22:36 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 31,424.00 จุด บวก 177.00 จุด หรือ 0.57%

ด้านราคาหุ้นของโกลด์แมน แซคส์พุ่งขึ้น 4% หลังเปิดเผยว่า ทางธนาคารมีกำไรและรายได้ในไตรมาส 2 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยได้แรงหนุนจากธุรกิจซื้อขายพันธบัตรที่แข็งแกร่ง แม้ว่าตัวเลขกำไรและรายได้ดังกล่าวต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากธุรกิจการทำข้อตกลงควบรวมกิจการที่ซบเซา

ทางด้านแบงก์ ออฟ อเมริกา ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐเมื่อพิจารณาจากมูลค่าสินทรัพย์ เปิดเผยว่า ทางธนาคารมีกำไรในไตรมาส 2 ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ เนื่องจากธนาคารต้องทำการกันสำรองหนี้สูญวงเงิน 523 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ธนาคารมีรายได้สูงกว่าคาด โดยได้รับอานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น และการขยายตัวของพอร์ทเงินกู้

นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยผลประกอบการในไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า บริษัทในดัชนี S&P 500 จะมีกำไรเพิ่มขึ้น 4.2% ในไตรมาส 2 ขณะที่รายได้พุ่งขึ้น 10.2% นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า บริษัทในดัชนี S&P 500 จะมีกำไรเพิ่มขึ้น 9.9% ในปีนี้

ขณะเดียวกัน หุ้นโบอิ้งพุ่งขึ้นกว่า 4% ขานรับข่าวที่ว่า สายการบินเดลต้า แอร์ไลน์ได้สั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 Max 10 จำนวน 100 ลำ พร้อมกับออปชั่นในการซื้อเครื่องบินเพิ่มอีก 30 ลำ

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนไม่คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 1.00% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนนี้

นักลงทุนลดคาดการณ์เกี่ยวกับการที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมเดือนนี้ หลังมีการเปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่าผู้บริโภคได้ลดคาดการณ์เงินเฟ้อ ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดบางรายแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.75% ในเดือนนี้ แทนที่จะปรับขึ้นอย่างรุนแรงถึง 1.00%

ทั้งนี้ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อเป็นข้อมูลที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยอมรับว่ามีผลต่อการตัดสินใจในการประชุมนโยบายการเงินของเฟด

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 33.2% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. และให้น้ำหนัก 66.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนให้น้ำหนักถึง 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. และให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 5.2% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยต่ำกว่าระดับ 5.3% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.

สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2.8% โดยต่ำกว่าระดับ 3.1% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวอย่างชัดเจนหลังการประชุมนโยบายการเงินของเฟดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคในผลสำรวจความเชื่อมั่นของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เฟดเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 15 มิ.ย. แม้ว่าเฟดคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% ก่อนหน้านั้นเพียง 1 สัปดาห์

ทั้งนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 50.2 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในช่วงทศวรรษ 1940 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 58.5 หลังจากแตะระดับ 58.4 ในเดือนพ.ค. โดยดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตต่างปรับตัวลง

นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะ 5.4% ในปีหน้า โดยสูงกว่าระดับ 4.2% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และคาดว่าเงินเฟ้อจะแตะ 3.3% ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยสูงกว่าระดับ 2.8% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

“เราพบว่าข้อมูลที่มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจ ซึ่งเรากำลังจับตาตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อ และกำลังให้ความจริงจังในเรื่องนี้” นายพาวเวลกล่าว

ทั้งนี้ เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537

Back to top button