MILL เพิ่มทุน “พีพี” 462 ล้านหุ้น นำเงินเสริมสภาพคล่อง-ขยายธุรกิจหนุนโอกาสโต

บอร์ด MILL ไฟเขียวเพิ่มทุนขายพีพี 462 ล้านหุ้น ราคาเสนอขายหุ้นละ 0.79 บาท นำเงินเสริมสภาพคล่อง-ขยายธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ Circular Economy เน้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อน


นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง  กรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน)  หรือ MILL เปิดเผยว่า  คณะกรรมการบริษัทได้มีมติให้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) จำนวน 462 ล้านหุ้น  โดยกำหนดราคาเสนอขายหุ้นละ 0.79 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 364.98 ล้านบาท ซึ่งราคาที่เสนอขายเป็นราคาไม่ต่ำกว่าราคา 90% ของราคาตลาดถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักต่อหุ้นของหุ้นสามัญของบริษัท

โดยมติดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากมติที่ประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ทั้งนี้บริษัทได้กำหนดระยะเวลาการชำระเงินภายในวันที่ 16 – 31 สิงหาคม 2565

สำหรับรายชื่อนักลงทุนที่ได้รับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง ประกอบด้วย 1.นายธัญชาติ  กิจพิพิธ 2.นายสุระ คณิตทวีกุล 3.นายแพทย์พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี 4.นายทวีศักดิ์ ตั้งเด่นไชย และ 5.นายณรงค์ชัย สิมะโรจน์

สำหรับการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัดครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก นำเงินเพิ่มทุน ไปลงทุนขยายกิจการที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแล หรือ ESG ซึ่งก็สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่ม MILL ที่ยึดแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy  ทำธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อน นอกจากนี้ก็ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

“การเพิ่มทุนขาย PP นอกจากจะทำให้ฐานะการเงินของกลุ่ม MILL มีความแข็งแกร่งแล้ว ยังช่วยส่งเสริมศักยภาพการลงทุน ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น และนักลงทุนกลุ่มที่ได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน PP  เป็นนักลงทุนทั่วไปที่ต้องการลงทุนในหุ้นที่ทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแล หรือธรรมาภิบาล (ESG)” นายประวิทย์ กล่าว

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2/2565 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 53 ล้านบาท ลดลง 12 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นจาก 2 ส่วน คือ การขาดทุนจากการวัดมูลค่ายุติธรรมตามมูลค่าตลาดของบริษัทร่วมทุนอยู่ที่ 47 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการหยุดผลิตอยู่ที่ 22 ล้านบาท ซึ่งหากไม่นับรวมค่าใช้จ่ายพิเศษดังกล่าวบริษัทจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 122 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการในไตรมาส 2/2565 อยู่ที่ 4,822 ล้านบาท ลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณการขายโดยรวมที่ลดลง ขณะที่ต้นทุนขายและบริการอยู่ที่ 4,571 ล้านบาท ลดลง 4.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามปริมาณการขายที่ลดลง ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 250 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

โดยยังได้กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กในช่วงไตรมาส 2/2565 ว่าแม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย แต่อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ตึงเครียดมากขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้อุปสงค์ของภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องชะลอตัวลง รวมถึงการผลิตและบริโภคของผลิตภัณฑ์เหล็ก

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ในช่วงไตรมาสที่ 2/2565 พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณการบริโภคเหล็กสำเร็จรูปรวมทั้งสิ้น 4.74 ล้านตัน ลดลง 8.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นการบริโภคเหล็กทรงยาวอยู่ที่ 1.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.8 % จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และการบริโภคเหล็กทรงแบนอยู่ที่ 2.99 ล้านตัน ลดลง 13.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า

Back to top button