กสทช. เปิด 5 ความต่าง ดีลควบ “TRUE-DTAC”

กสทช. เปิด 5 ความแตกต่าง ดีลควบรวม TRUE-DTAC กับดีลในอดีต และผลการศึกษาตัวอย่างทั้งในประเทศและต่างประเทศ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิด 5 ข้อมูลสำคัญให้สาธารณะรับรู้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความชัดเจน โปร่งใส และนโยบายภาครัฐที่เปิดกว้าง ในกรณีการขอควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ดังนี้

1.ดีลนี้เป็นครั้งแรกที่มูลค่าทรัพย์สินและรายได้ตกกับบริษัทควบรวมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การควบรวมกิจการด้านการสื่อสารของประเทศ อาจส่งผลให้รายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดได้ยากขึ้น และอาจส่งผลกระทบทำให้การแข่งขันด้านราคาค่าบริการลดลง ที่สำคัญกรณีนี้แตกต่างอย่างชัดเจนจากการขอรวมธุรกิจในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้รับใบอนุญาตที่เป็นบริษัทในกลุ่มหรือเครือเดียวกัน หรือเป็นการรวมที่มีสินทรัพย์ไม่เกินวงเงินที่กฎหมายกำหนด รวมถึงกรณีที่เป็นการควบรวมของรัฐวิสาหกิจ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) กับ บมจ.ทีโอที (TOT) เป็นบมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ตามมติ ครม.

ทั้งนี้ สินทรัพย์ที่ได้จากผู้รับใบอนุญาตรายอื่นมูลค่าเกิน 875 ล้านบาท และรายได้ต่อปีเกิน 2,000 ล้านบาท และมูลค่าสินทรัพย์เกิน 14,000 ล้านบาท

2.ประสบการณ์การควบรวมกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างประเทศ ปรากฏผลทั้งที่อนุญาตแบบมีเงื่อนไขเข้มข้นมากและไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการขอควบรวมจาก 4 ราย เหลือ 3 รายใหญ่ และพบว่าแทบไม่มีประเทศใดเลยที่เป็นการควบรวมจาก 3 ราย เหลือ 2 รายใหญ่อย่างประเทศไทย เว้นแต่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งปรากฏว่าหลังจากที่ควบรวมเหลือ 2 รายแล้ว ผ่านไป 10 ปี จึงมีรายที่ 3 เข้าตลาดมาใหม่

ส่วนประเทศนอร์เวย์นั้น ปรากฏว่ามีรายใหม่เข้าสู่ตลาดพอดีในช่วงที่มีการขอควบรวม หน่วยงานกำกับดูแลจึงบังคับผู้ขอควบรวมให้ขายโครงสร้างพื้นฐานและขายฐานลูกค้าให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ ในประเทศนอร์เวย์จึงยังคงมีผู้ให้บริการในตลาดที่ 3 รายเหมือนเดิม

3.กรอบระยะเวลาในการพิจารณาการควบรวมกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างประเทศที่ผ่านมา มีตั้งแต่ใช้เวลา 3 เดือน จนถึงไม่กำหนดกรอบระยะเวลา ซึ่งประเทศเหล่านั้นเป็นการขอรวมธุรกิจภายใต้บริบทจากผู้ประกอบกิจการ 4 ราย เหลือ 3 ราย

ส่วนของประเทศไทยนั้นเป็นการขอรวมธุรกิจจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย จึงอาจจำเป็นต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและรัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างสำนักงาน กสทช. ขอขยายระยะเวลาในการปรับปรุงแก้ไขรายงานฯ ตามข้อสั่งการของที่ประชุมที่ให้หาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ กสทช. พิจารณาในขั้นสุดท้าย

4.ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านต่างๆที่กสทช. ชุดปัจจุบัน (ได้รับการโปรดเกล้าฯเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 18 เมษายน) แต่งตั้งขึ้นภายใต้ Roadmap เพื่อพิจารณาดีลการควบรวมนี้ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2565

คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายชี้ว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต ตลอดจนกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำที่เป็นการผูกขาด ลดการแข่งขัน โดยกำหนดเงื่อนไขเท่าที่จำเป็น

คณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์พบว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ขอรวมธุรกิจจะมีแรงจูงใจในการขึ้นค่าบริการหลังควบรวมสำเร็จ ผู้เล่นรายใหม่จะเจออุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดยากขึ้น GDP จะลดลงราว 0.05% – 1.99% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 0.05  2.07%

คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี เห็นว่า กรณีการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจมีผลดี/ผลเสียแตกต่างกัน และผู้ประกอบการที่มีโครงข่ายและคลื่นน้อยที่สุดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

คณะอนุกรรมการด้านผู้บริโภค เห็นว่าไม่ควรให้ควบรวม แต่หากให้มีการควบรวม ก็ควรมีการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการ ทั้งเงื่อนไขกำกับในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น กำหนดให้มีการกระจายการถือครองคลื่นความถี่ เสาโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐาน มีการกำหนดค่าตอบแทนการใช้โครงข่ายที่เป็นธรรม ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขกำกับด้านพฤติกรรมของผู้ประกอบกิจการ เช่น การบริการและคุณภาพไม่ต่ำกว่าเดิม รายการส่งเสริมการขายที่หลายหลาย พื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม พัฒนาขยายโครงข่าย 5G ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นมาตรการหลักประกันในการให้และรับบริการในด้านต่างๆ ไว้ไม่น้อยกว่าเดิม

5.สำนักงาน กสทช.ได้ดำเนินการจัดจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านต่าง ๆ จากการรวมธุรกิจระหว่างทรู-ดีแทค ระบุว่าขอบเขตอำนาจทางกฎหมายเห็นว่า กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน ในส่วนมาตรการเชิงโครงสร้างและพฤติกรรมเห็นว่า กสทช.ควรมีการเรียกคืนคลื่นความถี่การถือครองที่มากเกินความจำเป็นและควรมีการกำกับดูแลอัตราค่าบริการ กำหนดสัดส่วนการลงทุนของผู้ประกอบการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อรายได้ รวมทั้งกำหนดความครอบคลุมของพื้นที่การให้บริการ (Coverage)

Back to top button