ศาล รธน.สั่งสอบเอกสาร “มีชัย” หลุด-ไม่เร่งรัดตัดสิน “นายกฯ 8 ปี”

เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยประธานศาลห่วงเอกสารความเห็นคดี “นายกฯ 8 ปี” ว่อนโซเชียล พร้อมสั่งสอบหาต้นตอคนปล่อย มั่นใจไม่กระทบต่อการพิจารณา


นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยกรณีที่ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมนัดพิเศษ เพื่อกำหนดแนวทางพิจารณากรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่หรือไม่

นายเชาวนะ ระบุว่า นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้อง ศาลได้เริ่มกระบวนพิจารณาเป็นลำดับตามปกติ การที่ศาลนัดประชุมในวันที่ 8 กันยายน ไม่ได้เป็นการเร่งเวลา หรือทำให้ช้าลง เป็นไปตามขั้นตอนปกติ แม้ศาลจะมองว่าเป็นคดีที่มีความสำคัญ แต่ไม่ได้มีการลัดขั้นตอนแต่อย่างใด โดยขั้นตอนในวันพรุ่งนี้ (08 ก.ย. 65) เป็นเพียงการนำพยานหลักฐานที่ศาลได้รับมาพิจารณาว่าเพียงพอที่จะวินิจฉัยหรือไม่ ถ้าไม่พอจะต้องแสวงหาเพิ่มเติม ซึ่งตามวิธีที่กฎหมายกำหนดทำได้ เช่น การให้บุคคลหรือหน่วยงานของรัฐชี้แจงก็ได้ หรือจะดำเนินกระบวการไต่สวนก็ได้ ดังนั้นที่มีข่าวทำนองว่าหลังจากการพิจารณาวันที่ 8 กันยายนแล้ว จะนัดอ่านคำวินิจฉัยในอีก 15 วัน และมีการกำหนดว่าผลของการพิจารณาจะออกมาเป็นกี่เสียง ยืนยันว่ายังไม่มีเงื่อนไขของการกำหนดวัน และยังไม่ถึงขั้นลงมติ

ส่วนกรณีหนังสือชี้แจงของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หลุดในโลกโซเชียลนั้น เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ  ไม่ยืนยันว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ แต่ยืนยันว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญ และกังวลใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเนื้อหากระทบผู้ให้ความเห็นและพาดพิงไปถึงคู่ความ จึงให้สำนักงานฯติดตามว่า เอกสารมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อมีเอกสารรั่วไหลในชั้นธุรการจะกำชับให้พึงระมัดระวัง แต่เมื่อมีการรั่วไหล ต้องเพิ่มความรัดกุมให้มากขึ้น

ส่วนที่ขณะนี้เอกสารชี้แจงของนายกรัฐมนตรีหลุดในโซเชียล ทางสำนักงานยังไม่ทราบ แต่จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อควบคุม เมื่อมีเหตุจะต้องเพิ่มมาตรการ เพราะท่านประธานฯห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก ส่วนตัวท่านไม่ได้หวั่นไหว และยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้เข้มแข็ง

เมื่อถามว่า หากคณะตุลาการฯ เห็นว่าข้อเท็จจริงมีความเพียงพอให้วินิจฉัยแล้ว ตามข้อกฎหมายจะต้องมีการนัดวันวินิจฉัยภายในกี่วันนั้น นายเชาวนะ ระบุว่า ตามกฎหมายกำหนดไว้ในบางคดีบางเรื่อง เช่น คดีที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะกำหนดเฉพาะเจาะจงว่าจะวินิจฉัยภายใน 15 วัน 30 วัน แต่คำร้องลักษณะกฎหมายไม่ได้กำหนด ขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะพิจารณา ซึ่งการที่ศาลจะกำหนดวันวินิจฉัย ตามข้อหมายได้กำหนดไว้เพียงปัจจัยเดียวคือ เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอต่อการพิจารณา และให้ความยุติธรรม จะกำหนดประเด็นวินิจฉัย และจะนัดอ่านความเห็นของตุลาการแต่ละท่าน และนัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ซึ่งปกติคำร้องที่มีกรณี ศาลจะลงมติช่วงเช้าและอ่านช่วงบ่าย

Back to top button