TEGH เทรดวันแรก! ลุ้นวิ่งเป้า 8 บ. โบรกฟันธงกำไรโตแกร่ง

TEGH ลงสนามเทรดวันแรก! ลุ้นวิ่งทะลุ 4.80 บ. โบรกคาดกำไรปกติปี 65-67 เติบโตเฉลี่ย 18% จากแนวโน้มปริมาณขายยางพาราและน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้น รวมถึงราคาขายยางพาราปรับเพิ่มขึ้น โดยประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่ 7.2-8.0 บ.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEGH เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หมวดธุรกิจการเกษตร วันนี้ (30 กันยายน 2565) เป็นวันแรก

โดยมีทุนชำระแล้วหลังการเสนอขาย IPO จำนวน 1,080 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 810 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) จำนวน 270 ล้านหุ้น โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรกระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน 2565 ในราคาหุ้นละ 4.80 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1,296 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO จำนวน 5,185 ล้านบาท

ทั้งนี้ ราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 7.7 เท่า โดยคำนวณจากผลประกอบการของบริษัทในช่วงไตรมาส 3/2564 ถึงไตรมาส 2/2565 ซึ่งเท่ากับ 671.8 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขาย IPO คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น (fully diluted EPS) เท่ากับ 0.6 บาท โดยมี บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ

สำหรับ TEGH เป็นผู้ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลัก 3 ธุรกิจ ได้แก่ (1) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติ (2) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ และ (3) ธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและบริหารจัดการกากอินทรีย์

โดยมีรายได้ส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 80 ของรายได้รวมจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติ โดยแบ่งผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ยางแท่ง และน้ำยางข้น โดยขายให้แก่ผู้ผลิตสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยางล้อ รองเท้า และเส้นด้ายยางยืด อีกทั้งบริษัทมีธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ โดยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัทเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น น้ำมันปรุงอาหาร, ส่วนผสมอาหาร, เนยสด และครีมเทียม

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและบริหารจัดการกากอินทรีย์ที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตนำมาผลิตพลังงานทดแทน เพื่อให้เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจสีเขียวที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่กลุ่มบริษัท

ด้าน นายเฉลิม โกกนุทาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TEGH เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 30 ปี โดยทีมงานผู้บริหารที่มีความรู้และประสบการณ์ในธุรกิจมาอย่างยาวนาน ทำให้ปัจจุบันบริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติ และเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่ในภาคตะวันออก และเป็นผู้ผลิตพลังงานทดแทนประเภทพลังงานชีวภาพแบบครบวงจรรายใหญ่ในพื้นที่ EEC ซึ่งการนำหุ้นสามัญของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับบริษัท และเสริมความแข็งแกร่งด้านการเงินของบริษัท ทั้งในแง่ของต้นทุนทางการเงินที่ลดลง และความเชื่อมั่นของคู่ค้า สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้ง

ทั้งนี้จะนำมาเพิ่มขีดความสามารถของบริษัท โดยใช้เป็นเงินลงทุนสำหรับการขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

โดย TEGH มีนโยบายในการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ ภายหลังจากหักภาษีและเงินทุนสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน สภาพคล่อง แผนการขยายธุรกิจ ความจำเป็นและความเหมาะสมอื่นใดในอนาคตและปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินราคาเป้าหมายกลางปี 2566 ของ TEGH อยู่ในกรอบ 7.2-8.0 บาท/หุ้น อิงจากวิธี PER และวิธี DCF โดยเชื่อว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมยางพารายังคงสดใส คาดอุปสงค์ยางพาราจะเติบโตขึ้นตาม Real GDP ของโลกที่อยู่ที่ราว 3.6% ในปี 2565 คาดว่าอุปสงค์จากจีนจะฟื้นตัวขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

ทั้งนี้คาดว่าการผลิตรถยนต์ทั่วโลกจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงักน้อยลง การเปลี่ยนถ่ายไปยัง EV คาดจะเกิดเร็วขึ้น จากราคาน้ำมันที่อยู่ระดับสูง และความพยายามของรัฐบาลทั่วโลกที่สนับสนุนพลังงานสะอาด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอุปสงค์เพิ่มเติมสำหรับยางธรรมชาติ รวมถึงปัญหาอุปทานขาดแคลนในอินโดนีเซียคาดจะส่งผลบวกต่อผู้ผลิตยางในประเทศไทยทั้งหมด

โดยประเมินว่ายอดขายยางช่วงปี 2565-2567 จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ที่ 16% ต่อปี หนุนจากอุปสงค์ยางพาราไทยที่เพิ่มขึ้น และการขยายกำลังการผลิต คาดว่าราคายางพาราจะปรับเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้นและอุปทานที่ลดลง

นอกจากนี้ ยังคาดว่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะส่งผลบวกต่อกลุ่มบริษัท เนื่องจากครึ่งหนึ่งของยอดขายมาจากการส่งออก จึงคาดว่ากำไรปกติช่วงปี 2565-2567 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ที่ 18% ต่อปี หนุนจากรายได้ที่มีแนวโน้มขาขึ้นซึ่งคาดว่าจะไปถึง 2 หมื่นล้านบาทในปี 2567 ส่วนต่างราคาระหว่างยางธรรมชาติและวัตถุดิบคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูง โดยคาดความประหยัดต่อขนาดจะดีขึ้นจากต้นทุนคงที่คาดเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง และคาดว่าอัตราส่วนสภาพคล่องจะเพิ่มขึ้นจาก 1.0 เท่า ในปี 2564 มาอยู่ที่ 1.3 เท่า ในปี 2565

ขณะที่คาดว่าสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (D/E ratio) จะลดลงจาก 2.1 เท่า ในปี 2564 มาอยู่ที่ 1.1 เท่า ในปี 2565 หลังได้รับเงินทุนจาก IPO ตลอดจนการดำเนินธุรกิจแบบ ESG จะมุ่งเน้นไปยังการเพิ่มการเติบโตในระยะยาว เชื่อว่ากลยุทธ์ของบริษัท สอดคล้องกับแนวโน้มที่มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อมของโลก หนุนจากการที่บริษัทได้รับ FSC และ GOLS ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่มีแนวโน้มที่จะซื้อวัตถุดิบยั่งยืนมากขึ้น และสินค้า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยหนุนการเติบโตในระยะยาวให้แข็งแกร่งจากปัจจัยเสี่ยงที่น้อย

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ระบุว่ากำไรปี 2566 ของ TEGH จะเติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 12% และในปี 2567 เติบโต 6% ตามลำดับ โดยราคายางและน้ำมันปาล์มดิบที่อยู่ในระดับสูงในปี 2564-2565 อาจชะลอตัวลงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของหลายประเทศเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการลดการผลิตและการบริโภคทั่วโลก

อย่างไรก็ตามคาดว่าจะยังได้ผลบวกจากการขยายกำลังการผลิตและการปรับปรุงประสิทธิภาพภายใน โดยประเมินราคาเป้าหมายปี 2566 ของ TEGH ที่ 6.90 บาท โดยอิง PER 9.1 เท่า (เทียบเคียงกับค่า PER ย้อนหลังของธุรกิจผู้ผลิตยางแท่งในตลาด)

นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด ระบุว่า แนวโน้มกำไรสุทธิของ TEGH ปี 2565 เติบโต 45% และในปี 2566 เติบโต 15% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน จากแนวโน้มปริมาณขายยางพาราและน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้น และราคาขายยางพาราปรับเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการขยายกำลังการผลิต โดยกำหนด Fair value ปี 2565 ที่ 6 บาท และ Fair value ปี 2566 ที่ 6.90 บาท อิงค่า PER 8 เท่า และสามารถคาดหวังอัตราเงินปันผลตอบแทนได้ราว 3-4% ต่อปี

Back to top button