“ก้าวไกล” เตรียมฟ้องป.ป.ช. เอาผิดบอร์ด “กสทช.” ไฟเขียวควบ TRUE-DTAC

“ก้าวไกล” เตรียมฟ้องป.ป.ช. เอาผิดบอร์ด “กสทช.” ปฏิบัติหน้าที่มิชอบปล่อยดีลควบรวม TRUE-DTAC ขณะที่โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่าการควบรวมธุรกิจของ 2 บริษัทดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การผูกขาดในด้านสาธารณูปโภค


นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับผลการประชุมของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) ที่มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC

โดยตนจะยื่นคัดค้านเรื่องนี้ต่อไป เพราะกสทช.ไม่ได้ใช้อำนาจของตัวเองตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด โดยจะฟ้องตามมาตรา 157 ทั้งคณะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่ากสทช.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หากผิดจริง การควบรวมครั้งนี้อาจเป็นโมฆะได้

สำหรับกรณีควบรวมกิจการดังกล่าว รัฐบาลสามารถมีบทบาทแทรกแซงเรื่องนี้ได้ แต่รัฐบาลกลับนิ่งเฉย จนอดคิดไม่ได้ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ และเห็นว่าหลังจากนี้จะต้องทบทวนกฎหมายว่าด้วยที่มาของ กสทช. ซึ่งจำเป็นต้องทำให้ กสทช.ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น แก้ไขประกาศต่างๆ ที่ออกมาภายหลัง และแก้ไขบทบาทอำนาจของตนเองใหม่ให้สามารถอนุญาตการควบรวมกิจการได้

ด้านนางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า การควบรวมธุรกิจของ 2 บริษัทดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การผูกขาดในด้านสาธารณูปโภค ที่ควรเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน ทำให้คู่แข่งขันในตลาดจะเหลือเพียง 2 บริษัทใหญ่ คือ เอไอเอส และทรูกับดีแทคที่ควบรวมกัน ถึงเม้ กสทช. จะมีการกำหนดเงื่อนไขเฉพาะ เพื่อรองรับและคุ้มครองผู้บริโภคว่าต้องพ้น 3 ปีไปก่อนจึงจะสามารถควบรวมได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็มีความเสี่ยงในอนาคตที่จะทำให้ทิศทางราคาการใช้บริการโทรคมนาคมของประชาชนถูกกำหนดโดยเจ้าตลาดเพียง 2 บริษัทเท่านั้น

ทั้งนี้ นางสาวธิดารัตน์ เสนอว่ารัฐบาลควรพิจารณาสนับสนุนรัฐวิสาหกิจของรัฐเองมากขึ้น เช่น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT (กสท. และ TOT เดิม) โดยให้ NT เข้ามาถ่วงดุลในตลาดโทรคมนาคมเพิ่มเติม โดยเสนอให้มีราคาที่ต่ำกว่าบริษัทเอกชนทั้ง 2 บริษัท เพื่อดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการกับรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น และเป็นการช่วยดึงราคาในตลาดไม่ให้มีค่าบริการที่สูงเกินไป รวมถึงการันตีว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคได้อยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การที่ กสทช. อนุญาติให้เกิดการควบรวมกิจการของทุนขนาดใหญ่ 2 บริษัทในกิจการโทรคมนาคมนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการสนับสนุนให้เกิดทุนผูกขาดขึ้นในประเทศ แต่ยังสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยมที่อาจเป็นอันตรายต่อประชาชนได้ เพราะไม่ได้มองถึงปัญหาของประชาชนคนตัวเล็ก ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย และค่าครองชีพในสาธารณูปโภค รัฐควรคำนึงถึงปัญหาการผูกขาดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในกิจการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน

Back to top button