KDI ชี้เศรษฐกิจ “เกาหลีใต้” ส่งสัญญาณชะลอตัว เหตุส่งออกอ่อนแอ-ภาคผลิตซบเซา

KDI ชี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อ่อนแอลงมาก โดยเฉพาะการส่งออก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงในตลาดต่างประเทศ และยังมีสัญญาณบ่งชี้เพิ่มขึ้นว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะชะลอตัวลงอีก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันเพื่อการพัฒนาเกาหลี (KDI) เปิดเผยว่า มีสัญญาณบ่งชี้เพิ่มขึ้นว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้กำลังชะลอตัว เนื่องจากการส่งออกที่อ่อนแอและภาคการผลิตที่ซบเซาลง อันเป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงในตลาดต่างประเทศ

ขณะที่สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจครั้งล่าสุดของสถาบัน KDI นั้น ย่ำแย่กว่าที่ประเมินไว้เมื่อเดือนต.ค.ว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้อยู่ในช่วงฟื้นตัวเล็กน้อย แม้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลงก็ตาม

“การเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อ่อนแอลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงในตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณบ่งชี้เพิ่มขึ้นว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะชะลอตัวลงอีกสถาบัน KDI ระบุ

สำหรับข้อมูลจากรัฐบาลเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ยอดส่งออกเดือนต.ค.ของเกาหลีใต้ร่วงลง 5.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งนับเป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี

ส่วนยอดการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์เดือนต.ค.ร่วงลง 17.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากอุปสงค์และราคาชิปปรับตัวลดลง ส่งผลให้ยอดการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3

ด้าน นายจอง คยู-ชุล เจ้าหน้าที่ KDI กล่าวว่าที่ผ่านมานั้น มีมุมมองที่เป็นบวกมาโดยตลอดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะฟื้นตัว กระทั่งในเดือนต.ค. เราเริ่มมองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะอ่อนแรงลง

สำหรับธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเกาหลีใต้ขยายตัว 0.3% ในไตรมาส 3/2565 ซึ่งชะลอตัวลงจากการขยายตัว 0.7% ในไตรมาส 2/2565 และเป็นการขยายตัวในอัตราที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3/2564 เนื่องจากผลกระทบของการส่งออกที่ซบเซา และเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างมาก

โดยดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกับธนาคารกลางทั่วโลก เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยล่าสุดในการประชุมวันที่ 12 ต.ค.65 ธนาคารได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 3.00% ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบประมาณ 10 ปีที่อัตราดอกเบี้ยพุ่งแตะระดับ 3.00%

Back to top button