“กรมวิทย์” เร่งเพิ่มน้ำยาตรวจโควิด “สายพันธุ์ BQ” หลังไทยติดเชื้อรายที่ 2

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” เตรียมเร่งทำน้ำยาตรวจเฉพาะสำหรับ สายพันธุ์ BQ หลังไทยพบรายที่ 2 เดินทางกลับจากอิตาลี พร้อมสั่งติดตามเฝ้าระวัง


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 กลายพันธุ์ เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ (2 พ.ย.65) ว่าหลังจากเปิดประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในช่วงฤดูหนาวนี้อาจมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น การใส่หน้ากาก ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดยังมีความสำคัญในการช่วยลดการติดเชื้อสำหรับการกลายพันธุ์ของโควิด ซึ่งปัจจุบันมีการแตกแขนงหลากหลายสายพันธุ์ แต่ข้อสรุปคือ ยังเป็นตระกูลหรือลูกหลานของโอมิครอนอยู่ ยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา ทั้งนี้ภาพรวมทั่วโลกจากฐานข้อมูลของ GISAID ยังคงเป็น BA.5 แต่มีการกลายพันธุ์ย่อยลงไปของแต่ละสายพันธุ์ บางตัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น XBB , BA.4.6 และ BQ.1

ส่วนของประเทศไทยก็ต้องมาพิจารณาดูว่า ตัวไหนบ้างที่ต้องให้ความสำคัญเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะมีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นบางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม แต่ละพื้นที่ของโลกจะมีการแพร่ระบาดต่างกัน เช่น แถบนี้เป็น XBB ยุโรป อเมริกา พบ BQ.1 หรือ BA.4.6 มากขึ้น เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์ในยุโรปและอเมริกาพบว่า BA.4 BA.5 ถูกเบียดจาก BQ.1 BQ.1.1 มีแนวโน้มจะมาแทนที่ ซึ่งอาจทำให้ภาพรวมของโลกเปลี่ยนไปด้วย ถ้ามีการเดินทางไปพื้นที่อื่น เช่น ไทย ก็ต้องเตรียมรับมือ BQ.1 ว่าจะเพิ่มในไทยมากน้อยแค่ไหน แต่ทั้งนี้ยังไม่เห็นสัญญาณและหลักฐานมากพอ ว่ามีอาการรุนแรงมากกว่า BA.5 และล่าสุดข้อมูลปัจจุบันคาดว่า ไม่น่าจะรุนแรงแตกต่างกัน

โดยปัจจุบันสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล (VOC) ยังมีจำนวนเท่าเดิม คือ อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา และโอมิครอน ส่วนสายพันธุ์ใหม่ยังไม่มีการประกาศที่แน่ชัด เพราะสายพันธุ์ที่กังวลให้นับรวมถึงลูกหลานของมันด้วย อย่างเช่น เดลตาที่มีกลายพันธุ์มากแล้ว น่าจะเป็นตัวใหม่หรือตัวพาย เป็นสายพันธุ์น่าห่วงกังวลใหม่ ก็ไม่ใช่ เพราะถูกจัดชั้นเป็น AY.103 อีกทั้งยังเป็นลูกหลานเดลตา ใน GISAID ก็ยังพบแค่รายเดียว หลังจากสืบสาวต้นตอกลับไปได้ ถ้าไม่ได้แปลกประหลาดจนหาตัวไม่เจอว่ามาจากไหน ก็ยังให้นับเป็นสายพันธุ์ที่มีมาแต่ก่อน ส่วนสายพันธุ์ BA.4.6 ที่เฝ้าระวัง เนื่องจากเมื่อเทียบกับ BA.1 BA.2 BA.4 และ BA.5 พบว่า ภูมิคุ้มกันจากคนรับวัคซีนหรือติดเชื้อมาก่อน ลบล้างเชื้อหรือฆ่าเชื้อ BA.4.6 ได้น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง แปลว่าวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาจะได้ผลต่อตัวนี้น้อยลงไปครึ่งหนึ่ง

ด้านสายพันธุ์ BA.2.3.20 ที่เพิ่งพบในไทยรายแรกๆ แต่พบที่อื่นในโลกมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นตัวหนึ่งที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้จับตาดู โดยสายพันธุ์ย่อยที่ WHO ให้ติดตาม ไทยพบและรายงาน GISAID แล้ว ได้แก่ BF.5 พบ 6 ราย , BF.7 พบ 2 ราย , BQ.1 พบ 2 ราย , BE.1 พบ 5 ราย , BE.1.1 พบ 2 ราย , BN.1 พบ 9 ราย , BA.4.6 พบ 3 ราย , XBB พบ 5 ราย และ BA.2.3.20 พบ 2 ราย

ขณะเดียวกันสำหรับสายพันธุ์ BA.4.6 ที่พบเพิ่มเติมเป็นรายที่ 3 คือ ชายไทยอายุ 59 ปี ติดเตียง ญาติไม่มีใครติดเชื้อจากผู้ป่วย แสดงว่าอาจไม่ได้แพร่เร็วหรือง่าย ครบเวลากักตัวอาการสบายดี ส่วน BA.2.3.20 ที่พบใหม่ 2 ราย รายแรกเป็นชายสัญชาติจีนอายุ 49 ปี มีอาการเหมือนโควิดทั่วไป คือ ไอ เจ็บคอ ไม่ได้มาจากต่างประเทศ ให้ประวัติว่าอยู่ในไทยมาแล้วสักพัก หลังครบกักตัวหายดี ไม่มีปัญหา อีกรายเป็นเด็กหญิงไทยอายุ 10 ปี ครบกักตัวสบายดีเช่นกัน

ขณะที่ สายพันธุ์ BQ.1 ที่พบเพิ่มเป็นรายที่ 2 ของไทย เป็นชายไทย เดินทางกลับจากอิตาลี ครบกักตัวสบายดี และ สายพันธุ์ XBB พบเพิ่มอีก 3 ราย ได้แก่ หญิงชาวสิงคโปร์อายุ 76 ปี เด็กหญิงไทยอายุ 10 ปี และหญิงไทยอายุ 44 ปี ทุกรายอาการไม่มาก สบายดี หายกลับบ้านได้ ซึ่ง XBB มีรายงานเพิ่มในภูมิภาคนี้ และเริ่มมีลูกหลานคือ XBB.1 รายงานทั่วโลก 772 ราย

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีการตรวจตัวอย่างแบบเร็วทุกสัปดาห์ ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจ 143 ราย พบว่า เจอ BA.2.75 ถึง 10 รายในบางพื้นที่ ซึ่งเดิมบางสัปดาห์เราเจอ 3-5 ราย ถือว่าเพิ่มขึ้น จะต้องติดตามเฝ้าระวังต่อไป โดยอนาคตต้องจับตาดู BQ.1 ที่เพิ่มจำนวนเร็ว โดยจะเพิ่มน้ำยาตรวจเฉพาะสำหรับ BQ ทั้งหลายด้วย ว่าจะเพิ่มขึ้นเหมือนยุโรปและอเมริกาหรือไม่

Back to top button