หนุนเที่ยวเชิงสุขภาพ “ครม.” ลดค่าฟีวีซ่า “รักษาพยาบาล” เหลือ 5 พันบาท/ราย

“ครม.” ลดค่าฟีวีซ่า "รักษาพยาบาล" เหลือ 5 พันบาท/ราย โบรกแนะ 5 หุ้นโรงพยาบาล รับประโยชน์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาทิ BH,BDMS,BCH,CHG, และ RAM


วันนี้(11พ.ย.65) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ในการกำหนดค่าธรรมเนียมในการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี (Medical Treatment Visa) รหัส Non-MT ให้ใช้อัตราใหม่คือรายละ 5,000 บาท

โดยปรับค่าธรรมเนียมจากเดิมรายละ 6,000 บาท สำหรับประเภท VISA เพื่อการรักษาพยาบาลได้สอดรับกับระยะเวลาและกระบวนการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน ผู้ป่วยชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าออกในไทยได้หลายครั้ง (Multiple Entry) ครั้งละไม่เกิน 90 วันในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ระบบวีซาประเภทนี้ในวันที่ 1 มกราคม 2566

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ตามนโยบายรัฐบาลด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ. 2560-2569) และให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

น.ส.ทิพานันกล่าวว่า ครม.จึงมีมติวันนี้ให้พิจารณากำหนดค่าธรรมเนียมในการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปีสำหรับผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ได้มีการนัดหมายล่วงหน้ากับสถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล ในอัตรารายละ 5,000 บาท ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2523) ออกตามความใน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2546) ออกตามความใน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2549) ออกความตามในพ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องและประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติทราบอย่างทั่วถึงต่อไป

“การขอรับการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี เมื่อครบกำหนด 1 ปีแล้ว ไม่สามารถขยายอายุต่อได้ หรือ Medical Treatment Visa รหัส Non-MT ที่จะต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทุก 90 วัน ผู้ขอจะต้องมีการยื่นเอกสารการนัดหมายกับสถานพยาบาล (Confirmation Letter) หลักฐานการเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายภายในประเทศเป็นเงินสดไม่น้อยกว่า 800,000 บาท

หลักฐานการเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เอกสารแสดงประกันภัยกรณีอุบัติเหตุและการช่วยเหลือฉุกเฉินรวมความคุ้มครองการรักษาโควิด-19 ในประเทศไทย และการขออยู่ต่อจะต้องแสดงใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และสถาบันทางการแพทย์ภาครัฐเท่านั้น” น.ส.ทิพานันกล่าว

น.ส.ทิพานันกล่าวว่า กลุ่มโรคที่อนุญาตให้เข้ารับการขอรับการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล เฉพาะผู้ที่มารับบริการในกลุ่มโรคหรือหัตถการที่มีระยะเวลารักษาต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่า 90 วัน โดยสถานพยาบาลต้องมีแผนการรักษา (Doctor Plan) และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ เวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพ การแพทย์ทางเลือก โรคระบบหัวใจหลอดเลือด

โรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ทันตกรรม เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันทางการแพทย์ โรคมะเร็ง ศัลยกรรมเสริมความงาม จักษุ การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยรับรองเป็นรายกรณี โดยกระทรวงสาธารณสุขจัดทำเอกสารกลุ่มโรคและหัตถการเพื่อการรับรอง

ด้านผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีดังกล่าวคาดว่ากลุ่มหุ้นโรงพยาบาลจะได้ประโยชน์จากจำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย อาทิ BH,BDMS,BCH,CHG, และ RAM เป็นต้น

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) แนะนำ “ถือ” หุ้น BH พร้อมปรับราคาเป้าหมายใหม่ เป็น 240 บาท จากเดิม 225 บาท โดยปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 65 ขึ้นอีก 36.2% เป็น 4,210 ล้านบาท เทียบช่วงปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,216 ล้านบาท พร้อมมองว่า กำไรสุทธิจะยังเติบโตได้อีกในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากคนไข้ชาวต่างชาติมีสัดส่วนกว่า 66% ของรายได้รวม และมองว่ากำไรจะถูกขับเคลื่อนด้วยปริมาณผู้ป่วยที่หนาแน่นขึ้น จากการรักษาพยาบาลโรคทั่วไป ทั้งผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติ

ส่วนบล.ดาโอ แนะนำ “ซื้อ” BDMS ราคาเป้าหมาย 36.00 บาท บริษัทรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/65 อยู่ที่ 3,386 ล้านบาท  โต35% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้รวมขยายตัวจากผู้ป่วยทั้งในประเทศ และต่างประเทศชาวต่างชาติ ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 65 ขึ้นเป็น 12,711 ล้านบาท และปี 66 อยู่ที่ 13,052 ล้านบาท เพื่อสะท้อนผลประกอบการไตรมาส 3/65 ที่ดีกว่าคาดจากการเติบโตของผู้ป่วยชาวไทยและต่างชาติ

Back to top button