AURA เคาะราคาไอพีโอ 10.90 บ. พร้อมเทรด 29 พ.ย.นี้ ระดมทุนขยายสาขา

“ออโรร่า ดีไซน์”  หรือ AURA แต่งตั้ง “บล.กสิกรไทย” เป็นลีดอันเดอร์ไรท์เตอร์ พร้อมเคาะราคาเสนอขาย IPO ที่หุ้นละ 10.90 บ. ลุยเทรด SET วันที่ 29 พ.ย.65 เดินหน้าระดมทุนขยายสาขา


บริษัท ออโรร่า ดีไซน์ จำกัด (มหาชน) หรือ AURA กำหนดราคาขายหุ้น IPO ที่ 10.90 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 21 – 23 พ.ย.65 และคาดนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 29 พ.ย.65 โดยจะเป็นร้านขายปลีกทองรูปพรรณรายแรกที่เข้าจดทะเบียนใน SET

ทั้งนี้ บริษัทแต่งตั้ง บล.กสิกรไทย เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน และบริษัทหลักทรัพย์อีก 4 ราย เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ประกอบด้วย บล.ทิสโก้, บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย), บล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และ บล.บัวหลวง

โดยการกำหนดราคาหุ้นสามัญที่จะเสนอขายในครั้งนี้ ได้มีการพิจารณาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building) ของนักลงทุนสถาบันและนิติบุคคล โดยหากพิจารณากำไรสุทธิช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (ตั้งแต่ไตรมาส 4/64 ถึงไตรมาส 3/65) ซึ่งเท่ากับ 721.50 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด 1,334,000,000 หุ้น (Fully Diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share) เท่ากับ 0.54 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) ประมาณ 20.15 เท่า

ทั้งนี้ สัดส่วนหุ้นของ “ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร” ที่ไม่ติด Silent Period จำนวน 93,3000,000 หุ้น คิดเป็น 6.99% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้

นายอนิวรรต ศรีรุ่งธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AURA เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกทองรูปพรรณ เครื่องประดับเพชรและอัญมณี และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นที่มีบริการแบบครบวงจร (One Stop Service) ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของทีมผู้บริหาร 50 ปี เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ ผู้นำในการส่งมอบของขวัญแห่งความสุขที่มีคุณค่า ผ่านการดำเนินงาน 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจค้าปลีกทองรูปพรรณ และเครื่องประดับและของขวัญที่ทำมาจากทองคำ และ 2. ธุรกิจขายฝากทองรูปพรรณ และเครื่องประดับ ที่มีทองคำและเพชรเป็นส่วนประกอบ (ธุรกิจขายฝาก) โดยมุ่งนำเสนอของขวัญที่มีค่ามีคุณภาพและสร้างความหลากหลายด้านผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ AURORA, เซ่งเฮง, ทองมาเงินไป, ของขวัญ by AURORA และ AURORA Diamond และวางเป้าหมายก้าวสู่ผู้นำร้านทองของประเทศไทย ส่งมอบของขวัญแห่งความสุขที่มีคุณค่าครบวงจรสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

“การก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ ทำให้ AURA เพิ่มขีดความสามารถการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และพัฒนาแบรนด์ใหม่ รวมถึงขยายธุรกิจค้าปลีกทองรูปพรรณ เครื่องประดับเพชรและอัญมณีและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นที่มีบริการแบบครบวงจร (One Stop Service) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น พร้อมยกระดับการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น มีความรวดเร็วตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ทุกคนส่งมอบของขวัญแห่งความสุขที่มีคุณค่าทุกโอกาส ซึ่งจะช่วยผลักดันการขยายธุรกิจของออโรร่าเติบโตอย่างยั่งยืน”  นายอนิวรรต กล่าว

ส่วนนายอนิพัทย์ ศรีรุ่งธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด AURA กล่าวว่า ทิศทางอุตสาหกรรมธุรกิจค้าปลีกทองรูปพรรณ และเครื่องประดับหรือของขวัญที่ทำมาจากทองคำมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก โดยบริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์การตลาดมุ่งสร้างแบรนด์ของขวัญล้ำค่าส่งมอบความสุขในโอกาสพิเศษต่างๆ เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง พร้อมนำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และแบรนด์ใหม่ เช่น การเปิดร้านเครื่องประดับเพชรแบรนด์ใหม่ระดับพรีเมียม เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market)  พร้อมขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับทองคำ ขายฝากทองรูปพรรณ เครื่องประดับที่มีทองคำและเพชร ภายใต้แบรนด์ ทองมาเงินไป บนทำเลที่มีศักยภาพในแหล่งชุมชน โดยให้บริการรับขายฝากสินค้าด้วยวงเงินและอัตราดอกเบี้ยที่แข่งขันได้ เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกระดับ

นอกจากนี้ จะเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจำหน่ายด้วยกลยุทธ์ O2O (Online to Offline) มุ่งขยายร้านสาขา (Offline) บนทำเลที่มีศักยภาพทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าเปิดสาขาครบ 409 แห่งภายในปี 2567 จาก ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีสาขารวม 265 แห่ง  ควบคู่กับการขยายช่องทางขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (Online) ผ่านทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดียของบริษัทฯ และมาร์เก็ตเพลส  เพื่อตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันใหม่สำหรับส่งเสริมการขายสินค้าและสร้างประสบการณ์ที่ดีตอบสนองความพึงพอใจให้ลูกค้าสูงสุด โดยมีแผนพัฒนาฟีเจอร์รองรับบริการหลังการขายในอนาคต และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้าและซัพพลายเออร์ที่มีมากกว่า 180 ราย รวมทั้งสถาบันอัญมณีศาสตร์ชั้นนำของโลก เพื่อตอกย้ำความน่าเชื่อถือของแบรนด์

ขณะที่นายยศรัณย์ วัณณะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานบัญชีและการเงิน AURA กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 65 บริษัทมีรายได้รวม 14,412.5 ล้านบาท เติบโต 27.3% และมีกำไรสุทธิ 383.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้หลักมาจากการขายกลุ่มผลิตภัณฑ์โมเดิร์น โกลด์ (Modern Gold) ทองรูปพรรณที่มีส่วนประกอบของทองคำบริสุทธิ์ 96.5% ได้แก่ สร้อยคอ แหวน สร้อยข้อมือ และการขายทองคำแท่งสถานะการรับซื้อสุทธิและมีการส่งมอบแล้ว นอกจากนี้ ยังมาจากรุกขยายช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยให้ AURA ขยายฐานผู้ที่ซื้อได้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งมีรายได้จากดอกเบี้ยรับ 101.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

พร้อมกันนี้นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ราคาเสนอขายหุ้น IPO ของ AURA ถือเป็นราคาที่เหมาะสม สะท้อนศักยภาพการดำเนินธุรกิจและปัจจัยพื้นฐาน ตลอดจนความเชื่อมั่นจากนักลงทุนในโอกาสเติบโตจากการรุกขยายธุรกิจในอนาคต จากโมเดลการดำเนินธุรกิจของ AURA มีความโดดเด่นและแตกต่างในอุตสาหกรรมธุรกิจค้าปลีกทองรูปพรรณ ด้วยศักยภาพการเติบโตที่ดีจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีช่องทางจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมสร้างประสบการณ์การซื้อผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มอบการให้บริการหลังการขายที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกช่องทาง

รวมถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ ในทุกช่วงการเปลี่ยนแปลงของราคาทอง สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่งและส่งผลให้ออโรร่าสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน ตอกย้ำให้ AURA เป็นผู้นำค้าปลีกธุรกิจทองรูปพรรณและเครื่องประดับแบบครบวงจร มั่นใจว่าการเสนอขายหุ้น IPO ของ AURA จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน

ปัจจุบัน AURA มีทุนจดทะเบียน 1,344 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,334 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.00 บาท โดยเป็นทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 1,000 ล้านบาท และจะเสนอ IPO จำนวนไม่เกิน 334 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 25.04% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้

ทั้งนี้ AURA จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปลงทุนขยายสาขา ส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจซึ่งรวมถึงการซื้อสินค้าเพื่อจำหน่ายและขยายพอร์ตธุรกิจขายฝาก และชำระคืนเงินกู้ยืม

Back to top button